ยูโร 2020 กร่อยสุดในรอบ 10 ปี เม็ดเงินสะพัด 6.2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นเงินนอกระบบ (พนัน) กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และแทบไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินพนันโอนไปต่างประเทศเกือบหมด ทำเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นได้ 0.3% “ธนวรรธน์” แนะเพิ่มเงิน “คนละครึ่ง” อีก 1,500 บาท ปัดฝุ่น “ช้อปดีมีคืน” หลังคนเมิน “ยิ่งใช้ยิ่งได้”
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงฟุตบอลยูโร 2020 ที่สำรวจตัวอย่าง 1,200 คนทั่วประเทศ วันที่ 15-18 มิ.ย.64 ว่า คาดจะมีมูลค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 62,440 ล้านบาท ลดลง 20.3% เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลก 2018 ที่ใช้จ่าย 78,386 ล้านบาท เป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับจากฟุตบอลโลก 2010 ที่มีการใช้จ่าย 59,700 ล้านบาท
โดยมูลค่าใช้จ่ายที่ 62,440 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 15,202 ล้านบาท ลดลง 15.1% จากฟุตบอลโลก 2018 ที่ใช้จ่ายในระบบ 17,902 ล้านบาท ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับจากเริ่มสำรวจมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2006 และเป็นการใช้จ่ายนอกระบบ (พนันบอล) อีก 45,840 ล้านบาท ลดลง 22.3% เทียบกับฟุตบอลโลก 2018 ที่มีเงินพนัน 58,996 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนใหญ่จะซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์รับสัญญาณ, ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า, พนันบอล, ซื้ออาหาร/เครื่องดื่ม และซื้ออุปกรณ์กีฬา โดยการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนลดลง 38.2% จากบอลโลก 2018 ขณะที่พฤติกรรมการเล่นพนัน ผู้ตอบมากถึง 65.2% เล่นพนัน แต่ส่วนใหญ่เล่นเฉพาะทีมที่ชอบ มีเพียงเล็กน้อยที่เล่นทุกนัด โดยเล่นพนันแต่ละนัด 1,001-5,000 บาท หรือเฉลี่ยต่อนัดที่ 3,807 บาท โดยจะเล่นพนันผ่านเว็บไซต์พนันมากสุด ตามด้วยเล่นกันเองกับคนรู้จัก/เพื่อน และโต๊ะบอล
“บอลยูโร 2020 มีผลช่วยกระตุ้นการจับจ่าย และเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก เพราะมีเงินเข้าสู่ระบบเพียง 15,200 ล้านบาท แม้จะมีเงินจากการเล่นพนันมากถึงกว่า 45,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการ เล่นพนันออนไลน์กับเว็บไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ เงินก็จะโอนออกไปต่างประเทศ อาจมีบางส่วน หรือราว 10,000-15,000 ล้านบาทตกอยู่ในประเทศ ซึ่งเมื่อรวมๆแล้ว ครั้งนี้อาจมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจริงราวๆ 30,000 ล้านบาท มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นได้ 0.3% หรือทำให้ทั้งปีเพิ่มขึ้นได้อีก 1%”
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ 62.5% ตอบยังไม่ได้ฉีด มีเพียง 37.5% ที่ฉีดแล้ว โดยพื้นที่ที่ฉีดแล้วมากสุดคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลาง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายคึกคัก ส่วนภาคอื่นๆ ยังไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์จากอินเดีย และแอฟริกาใต้มากขึ้น
ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นลดลงกว่าเดิม
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญขณะนี้คือการเร่งกระจายการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้พร้อมเปิดประเทศภายใน 120 วัน คือเร่งฉีดภายในเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ ยิ่งฉีดมากยิ่งมั่นใจมาก จากปัจจุบันยังเห็นภาพคนติดเชื้อมากถึงวันละ 3,000-4,000 คน จากเดิมที่คาดยอดคนติดเชื้อจะค่อยๆลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 1,000 คน
นอกจากนี้ ยังต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากพอ แต่มาตรการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่มีผู้ลงทะเบียนน้อย อาจเป็นเพราะคนละครึ่ง มีเม็ดเงินที่รัฐให้น้อยไปเพียง 1,500 บาท ภาคเอกชนจึงเสนอให้รัฐเพิ่มเงินให้เป็น 3,000 บาท ส่วนยิ่งใช้ยิ่งได้ที่คนอาจเห็นว่าการใช้ยุ่งยากและไม่ต้องการใช้สิทธิ์ ภาคเอกชนจึงเสนอให้รัฐบาลปัดฝุ่น “ช้อปดีมีคืน” มากกว่า เพราะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า เร็วกว่า.