ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน ครม.อึ้งเงินเก่าหมดหวั่นไม่พอแก้โควิดรอบ 3

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน ครม.อึ้งเงินเก่าหมดหวั่นไม่พอแก้โควิดรอบ 3

Date Time: 19 พ.ค. 2564 06:58 น.

Summary

  • ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงินรอบใหม่เพิ่ม 700,000 ล้านบาท หลังเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเดิมไม่พอใช้จ่าย ชำแหละเงินกู้ก้อนเดิมพบว่าเหลือเพียง 16,525 ล้านบาท คลังแจงจำเป็นต้องมีเงินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงินรอบใหม่เพิ่ม 700,000 ล้านบาท หลังเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเดิมไม่พอใช้จ่าย ชำแหละเงินกู้ก้อนเดิมพบว่าเหลือเพียง 16,525 ล้านบาท คลังแจงจำเป็นต้องมีเงินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ ชี้ใช้งบประมาณปี 2565 ไม่ทันต่อสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ... เพื่อกู้เงินภายใต้กรอบ 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และบริหารสภาพคล่องทางการคลัง เป็นการออก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ เพิ่มเติมจากเดิมที่มี พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 โดยจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2564 ครม.ได้อนุมัติโครงการขอใช้จ่ายเงินไปแล้ว 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 833,475 ล้านบาท คงเหลือ 166,525 ล้านบาท แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 ครม.ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการจากการระบาดของ โควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 อีกประมาณ 150,000 ล้านบาทจึงทำให้มีวงเงินคงเหลือ 16,525 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าจากการดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัว 6.1% ต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 8% ขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีความยืดเยื้อ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.2564 มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด ทั้งในแหล่งที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สาธารณะ และในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 17 พ.ค. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 110,182 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 43,268 ราย และเสียชีวิต 614 ราย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังมีความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีนของหลายประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 2.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.8% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.5-2.5% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,383,425 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 343,535 ล้านบาท คิดเป็น 12.5% และต่ำกว่าปี 2562 จำนวน 178,691 ล้านบาท คิดเป็น 6.9%

ขณะที่สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 และภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาจำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด มีข้อจำกัด อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายใน 2565 มีกระบวนการและใช้เวลาการดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาด ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ