แบงก์ชาติเศร้า! โควิด 3 ระลอกซ้ำเติมลูกหนี้รายย่อยหนักมาก ปรับโครงสร้างหนี้แล้วยังผ่อนไม่ไหว ประสานเจ้าหนี้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะ 3 ช่วยลูกหนี้บัตรเครดิตสินเชื่อบุคคล จำนำทะเบียนรถ เช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน สั่งแบงก์เปิดเจรจาลดวงเงินผ่อน-เลื่อนชำระ-พักหนี้-ลดดอกเบี้ย-รวมหนี้ หวังต่อลมหายใจลูกหนี้ยอมรับเอ็นพีแอลขยับขึ้นแน่ ใครเริ่มมีปัญหาการเงิน ติดต่อได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.นี้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร รถบริการรับส่งคน ทำให้พนักงานและลูกจ้างได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนมีสัญญาณว่า ลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น โดยสถาบันการเงินได้ประเมินว่าลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมซึ่งกำลังจะครบกำหนด และยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีลูกหนี้รายใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก โดยช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ มีลูกหนี้รายย่อยที่เข้ามาขอความช่วยเหลือมากถึง 100,000 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 40,000 ล้านบาท และล่าสุด เริ่มเห็นจำนวนลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 วัน เพิ่มขึ้น 10% ของสินเชื่อรายย่อยรวม ถือเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก
“ธปท.ได้เน้นให้สถาบันการเงินเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม และเพื่อให้ผ่อนส่งหนี้ต่อไปตามกำลังที่ทำได้ อย่าเบี้ยวหนี้ หากต้องการยืดเวลาการจ่ายหนี้ หรือลดวงเงินผ่อนชำระลง ก็ต้องเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังผ่อนไหวให้ผ่อนต่อไปตามปกติ โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. -31 ธ.ค.2564 ขณะที่ลูกหนี้เดิมที่กำลังจะสิ้นสุดโครงการพักหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้เอสเอ็มอี ธปท.กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือต่อไป”
ด้าน น.ส.วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวย-การอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ ธปท.กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมระยะ 3 นี้ โดยลูกหนี้ต้องไม่เป็นเอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 1 มี.ค.63 แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดวงเงินจ่ายค่างวด หรือปรับ โครงสร้างเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 เดือน อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง นอกจากนั้น ส่วนลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่กำลังผ่อนอยู่ ให้นำหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลไปรวมเป็นก้อนเดียวกันได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี หรือ MRR
2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักร-ยานยนต์ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีผ่อนไม่ไหว ให้ขอลดค่างวด หรือพักชำระ หากจำเป็นต้องคืนรถ ในราคาที่ตกลงกันได้ โดยไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากมีหนี้คงเหลือจากการขายให้สถาบันการเงิน ช่วยลดหนี้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ และกรณี 3 นำหนี้ไปรวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้
ส่วนกรณี 3.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักร-ยานยนต์ แบ่งเป็น 4 กรณี คือ 1.ขอลดค่างวด หรือขยายเวลาชำระ และคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 2.พักชำระหนี้ ปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยใหม่ กรณีต้องคืนรถ มีหนี้เหลือจากการขาย ให้สถาบันการเงินลดหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะลูกหนี้ 3.นำหนี้ไปรวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ และ 4.ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชีให้ลดดอกเบี้ยลงไม่น้อยกว่า 50%
สุดท้าย 4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งสามารถลดเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ หรือจ่ายเงินต้น แต่ลดดอกเบี้ยก็ได้ รวมทั้งเปิดให้ลูกหนี้ทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได ตามความสามารถชำระหนี้ หากไม่ไหวสามารถพักชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน โดยคาดว่ามาตรการทั้ง 4 ประเภทจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้รายย่อยในช่วงนี้ได้
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือร่วมกับทีมเศรษฐกิจทุกสัปดาห์ เพื่อเร่งพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างเหมาะสมที่สุด โดยที่ผ่านมามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
ล่าสุดได้มีมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” สำหรับผู้มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)วงเงินธนาคารละ 10,000 ล้านบาท เปิดให้กู้รายละ 10,000 บาท คาดว่าจะช่วยผ่อนคลาย ภาระทางการเงินให้ประชาชนได้กว่า 2 ล้านคน ทั้งเพิ่มสภาพคล่องในการประกอบกิจการ หรือที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างที่รัฐบาลเร่งบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด.