นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ว่า อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.3 เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมแม้ไม่ล็อกดาวน์ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวประชาชนระวังการใช้จ่าย ประกอบกับมาตรการทำงานที่บ้านถูกนำมาใช้เพื่อลดการระบาด
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ก็จะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 94.0 เทียบกับเดือน มี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานาน ในการควบคุม ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า โดยจากแบบสำรวจสมาชิก ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งระดมฉีดวัคซีนให้เร็วสุด”
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย จะหารือกันวันที่ 19 พ.ค.นี้ เพื่อสรุปแนวทางการทำงานของ 4 ทีมคณะทำงานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา อาทิ ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน, ทีมการสื่อสาร เพื่อช่วยรัฐบาลให้ได้มีการกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด ก่อนหน้านี้
ส.อ.ท.ได้รวบรวมความต้องการวัคซีน จากสมาชิกและที่ไม่ใช่สมาชิก ที่ยินดีจะจ่ายเงิน เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนกันเอง ที่มีราคาเฉลี่ย 1,000 บาทต่อโดส และเมื่อวันที่ 7 พ.ค.พบว่า มีความต้องการรวม 1,036,847 คน คิดเป็น 6,174 โรงงาน ซึ่งเฉพาะสมาชิกส.อ.ท.ต้องการ 446,263 คน ที่เหลือเป็นนอกสมาชิก และพนักงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
“ภาคเอกชนต้องการวัคซีนภายในเดือน มิ.ย. แต่หากเดือน มิ.ย.นี้ยังจัดหาไม่ได้ ก็ต้องรอรัฐบาล เพราะเวลานี้รัฐบาล จะจัดหาเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส จากเดิม 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาถือว่าดีแล้วในขณะนี้ แต่ก็ต้องเตรียมหาวงเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจในไตรมาส 3-4 ซึ่ง ส.อ.ท.เคยเสนอไว้ว่าควรเตรียมไว้ 2 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันจัดหาไว้เพียง 1 ล้านล้านบาท.