ดัชนีความสุขคนไทยต่ำสุด เศรษฐกิจพังยับโควิดกดทุกความเชื่อมั่นหดหาย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดัชนีความสุขคนไทยต่ำสุด เศรษฐกิจพังยับโควิดกดทุกความเชื่อมั่นหดหาย

Date Time: 7 พ.ค. 2564 05:45 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ดัชนีความสุขคนไทย เดือนเม.ย.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซมพิษโควิด–19 ระลอก 3 ถ้ายังคุมการระบาดไม่ได้ ฉีดวัคซีนล่าช้า คาดดัชนีความเชื่อมั่นเดือนหน้ามีโอกาสลดลง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ดัชนีความสุขคนไทย เดือนเม.ย.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซมพิษโควิด-19 ระลอก 3 ถ้ายังคุมการระบาดไม่ได้ ฉีดวัคซีนล่าช้า คาดดัชนีความเชื่อมั่นเดือนหน้ามีโอกาสลดลงได้อีก ส่วนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท ไม่พอกระตุ้นได้ เพราะการระบาดรอบนี้ทำเศรษฐกิจเสียหาย 3-4.5 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเม.ย. 64 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. อยู่ที่ 46.0 ลดจาก 48.5 ในเดือน มี.ค.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือในรอบ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่สำรวจมาเมื่อเดือน ต.ค.41 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 ลดจาก 42.5 ในเดือน มี.ค.64, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 ลดจาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 54.7 ลดจาก 57.7

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการ และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นเพราะผู้บริโภคกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยังล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ดีขึ้นได้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งส่ง ผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ และจะกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตด้วย โดยมองว่า ดัชนีเดือน พ.ค.ยังมีโอกาสลดลงได้อีก ถ้าการระบาดยังไม่ดีขึ้น การฉีดวัคซีนโควิดยังไม่ครอบคลุม และยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง”

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตในเดือน เม.ย.64 พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 30.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือในรอบ 16 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อเดือน พ.ค.49 เพราะผู้บริโภครู้สึกไม่ปลอดภัยจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ความคาดหวังความสุขในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 37.3 ห่างไกลจากค่าดัชนีมาตรฐานระดับ 100 มาก และเป็นค่าที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

สำหรับมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 240,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลในช่วงไตรมาส 2 ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท จากโครงการเราชนะ, เรารักกัน, มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ และมาตรการสินเชื่อต่างๆนั้น นายธนวรรธน์กล่าวว่า เม็ดเงินดังกล่าวยังน้อยเกินไปสำหรับการช่วยระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ประเมินว่า ความเสียหายจากการระบาดรอบ 3 จะมีมากถึง 300,000-450,000 ล้านบาท จึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนักคาดว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทย มีโอกาสเติบโตได้เพียง 3-5% จากเดิมที่เคยคาดจะเติบโต 8-9%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าส่งออกไทยปี 64 ใหม่เป็นเพิ่มขึ้น 6-7% จากเดิมคาดขยายตัว 3-4% เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์, ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วในหลายประเทศ และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในกรอบการอ่อนค่าที่ 31-32 บาท/เหรียญสหรัฐฯ โดยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคในการส่งออก คือ ยังมีตู้สินค้าขาดแคลนและค่าระวางเรือที่ทรงตัวระดับสูง, การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายหลายประเทศอาจส่งผลต่อกำลังซื้อ, วัตถุดิบและแรงงานขาดแคลนและแรงงาน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ