ภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ 85% เคยเบี้ยว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ 85% เคยเบี้ยว

Date Time: 28 เม.ย. 2564 07:40 น.

Summary

  • ผลสำรวจหนี้แรงงานโป๊ะเชะ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ แถมโควิดทำภาระหนี้ปี 64 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 205,809 บาท/ครัวเรือน เพิ่ม 29.56% ภาระผ่อนชำระ 8,024 บาท/เดือน

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ผลสำรวจหนี้แรงงานโป๊ะเชะ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ แถมโควิดทำภาระหนี้ปี 64 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 205,809 บาท/ครัวเรือน เพิ่ม 29.56% ภาระผ่อนชำระ 8,024 บาท/เดือน โดยแรงงาน 85% เคยผิดนัดชำระหนี้เพราะไม่มีเงิน เผยดอกเบี้ยแรงงานกู้ในระบบถูกโขกปีละ 11% กู้นอกระบบเจอ 19% ส่วนมูลค่าใช้จ่ายในวันแรงงาน 1 พ.ค. ปีนี้ คาดเหลือแค่ 1,700 ล้านบาท ต่ำสุดรอบ 10 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 64 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย.64 ว่า จากการสอบถามภาระหนี้สินปี 64 เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนกับเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ตอบมากถึง 98.1% ตอบว่ามีหนี้ และมีเพียง 1.9% ที่ตอบไม่มีหนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่ตอบมีหนี้ 95% และไม่มีหนี้ 5% โดยภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยมีสูงถึง 205,809 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 29.56% จากปี 62 ที่มีภาระหนี้ 158,855 บาท หรือมีภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีภาระผ่อนชำระ 8,024 บาท/เดือน

โดยส่วนใหญ่ 71.6% กู้หนี้ในระบบ มีภาระผ่อนชำระ 7,781 บาท/เดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.25% ต่อปี และอีก 28.4% กู้หนี้นอกระบบ มีภาระผ่อนชำระ 3,223 บาท/เดือน ดอกเบี้ย 19% ต่อปี ขณะที่มากถึง 85.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี และอีก 14.9% ไม่เคย สำหรับสาเหตุการก่อหนี้มากขึ้นมาจากเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้ว่าเงินเดือนหรือรายได้ไม่ได้ถูกปรับลดลงก็ตาม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก รวมถึงจ่ายหนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ลงทุน เป็นต้น

“ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้เสริมที่ลดลง ทำให้แรงงานใช้จ่ายมากขึ้นสวนทางกับรายได้ ส่งผลให้มีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น และเงินออมลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มหาเช้ากินค่ำ
คนมีรายได้น้อย แรงงานภาคบริการท่องเที่ยว และคนกลุ่มนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน มีโอกาสตกงานสูง ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการประคองการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่งและนายจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (โคเพย์) เพื่อช่วยภาคธุรกิจประคองการจ้างงานในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก จนทำให้เศรษฐกิจซึม”

นอกจากนี้ แรงงานไทยยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย และการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหยุดการแพร่ระบาดเร่งฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยโครงการของภาครัฐที่สามารถช่วยเหลือภาคครัวเรือนได้มากที่สุดในด้านการลดค่าครองชีพ คือโครงการคนละครึ่ง รองลงมาโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน

ส่วนการสอบถามถึงการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานในวันแรงงาน 1 พ.ค.ปี 64 เทียบกับปี 62 เพราะในปี 63 ไม่ได้มีสำรวจการใช้จ่ายวันแรงงาน เพราะมีโควิด-19 ระบาด และรัฐงดจัดกิจกรรม พบว่าจะมีการใช้จ่ายรวม 1,793 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 55 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 1,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5%

นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า ประเมินว่าการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปประมาณวันละ 6,000 ล้านบาท หรือหายไปวันละ 30-40% จากเดิมที่คาดการณ์การควบคุมแบบไม่เข้มข้น เม็ดเงินหายไปประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 14 วันจะมีเม็ดเงินหายไปเป็น 80,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าหายไป 40,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ