ว่าด้วย “อธิปไตยทางการเงิน”

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ว่าด้วย “อธิปไตยทางการเงิน”

Date Time: 17 เม.ย. 2564 05:01 น.

Summary

  • “อธิปไตยทางการเงิน” หรือ “monetary sovereignty” ส่วนหนึ่งจากการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับภาคประชาชน ของหลายธนาคารกลาง

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

(สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา หลายท่านอาจพอคุ้นหูกับคำว่า “อธิปไตยทางการเงิน” หรือ “monetary sovereignty” ส่วนหนึ่งจากการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) ของหลายธนาคารกลาง ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการการเงิน รองรับเทคโนโลยี และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินแล้ว

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ การปกป้องอธิปไตยทางการเงิน โดยเฉพาะเมื่อคริปโตเคอร์เรนซีและสเตเบิลคอยน์ ได้รับความนิยมและเริ่มถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแพร่หลายขึ้น อาจสร้างความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงินแต่ละประเทศ อันเป็นพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกได้ ผู้เขียนจึงชวนมาทำความรู้จัก “อธิปไตยทางการเงิน” และชวนคิดว่ามีความสำคัญอย่างไรครับ

ขอย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ผู้เขียนได้เคยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธนาคารกลาง ซึ่งได้ข้อค้นพบสำคัญ โดยเฉพาะต้นกำเนิดธนาคารกลางทั่วโลก และที่ยังคงจำได้ไม่ลืมคือ ความสำคัญของอธิปไตยทางการเงิน กล่าวคือ จุดเริ่มต้นของธนาคารกลางไทยมาจากความจำเป็นที่จะต้องรักษาอธิปไตยทางการเงินโดยตรง เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเตรียมเสนอให้ตั้งธนาคารกลางในไทย โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานเป็นชนชาติญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อพิมพ์ธนบัตรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม ซึ่งหากยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงเงินตราและเครดิตของไทยเช่นนั้น เท่ากับว่านโยบายการเงินและการเครดิตของไทยต้องเป็นไปตามนโยบายของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย จึงจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นเร่งด่วนภายในระยะเวลาอันสั้น รักษาอธิปไตยทางการเงินของไทยโดยสำเร็จ

ดังนั้น พอจะเห็นได้ว่า อธิปไตยทางการเงิน คือ อำนาจในการรักษาเสถียรภาพและทำให้เงินตราที่เราๆท่านๆถืออยู่มีความมั่นคง โดยไม่มีใครอื่นใด แทรกแซงได้ โดยองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไรส่วนบุคคล คือ ธนาคารกลาง เป็นตัวแทนของรัฐและประชาชน ดูแลรักษาเสถียรภาพและดำรงไว้ซึ่งอำนาจซื้อของเงินตราผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน และดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไม่ให้เกิดวิกฤติ ซึ่งจะกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

แม้ปัจจุบันจะไม่มีสงครามแล้ว แต่เรายังเห็นตัวอย่างของการสูญเสียอธิปไตยทางการเงินได้จากปรากฏการณ์ “dollarization” หรือการใช้เงินสกุลอื่นแทนเงินประเทศตนเอง อาทิ ซิมบับเว ซึ่งประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงต้องหันมาใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สูญเสียการควบคุมนโยบายการเงินของตนเองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามจำเป็น แน่นอนว่า ทุกประเทศย่อมไม่ต้องการสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน เพราะไม่ต้องการพึ่งพิงการกำหนดนโยบายจากประเทศอื่น ดั่งเมืองประเทศราช อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญในโลกปัจจุบันอาจพุ่งไปที่การกระจายอธิปไตยทางการเงินภายในประเทศ (decentralization) มากกว่า โดยเฉพาะภาคเอกชนที่สามารถผลิตเงินตราของตนเองได้ว่าจะดีกว่าหรือไม่?

ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงด้วยตนเองครับ ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนแต่ละคนได้รับความเป็นส่วนตัวและความมีประสิทธิภาพสูงจากการไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลางใดๆ แต่ย่อมต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงสำคัญ นั่นคือ เราไม่มีทางรู้ว่ามูลค่าในวันหน้าของสิ่งที่เรานำมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะยังเท่ากับมูลค่าในปัจจุบันหรือไม่ ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่แสวงหากำไรส่วนบุคคลที่ผลิตสิ่งเหล่านี้มีมากน้อยเพียงใด เมื่อเศรษฐกิจถดถอย นโยบายที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตจะทำหน้าที่อย่างไรและที่สำคัญ หากเกิดวิกฤติการเงิน ใครจะเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพในฐานะผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (lender of last resort) กันหนอ?

ทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้าน เราต้องรู้ชัด ชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบ และสร้างสมดุลให้ดี เพราะสุดท้าย ประโยชน์และความเสี่ยงไม่ได้ตกอยู่กับใคร แต่คือพวกเราประชาชนทุกคนนี่เองครับ!

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ