โรงแรมพักหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจคึกหลังรัฐไฟเขียวปล่อยซอฟต์โลน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โรงแรมพักหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจคึกหลังรัฐไฟเขียวปล่อยซอฟต์โลน

Date Time: 29 มี.ค. 2564 07:47 น.

Summary

  • สมาคมโรงแรมเผยมีโรงแรม 79.63% ต้องการพักทรัพย์ พักหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท เตรียมเจรจาธนาคารขอเช่าโรงแรมต่อ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ สายการบินแจงไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน

Latest

ความรู้ทางการเงิน สำคัญแค่ไหน? สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในระบบการเงินโลกยุคนี้

สมาคมโรงแรมเผยมีโรงแรม 79.63% ต้องการพักทรัพย์ พักหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท เตรียมเจรจาธนาคารขอเช่าโรงแรมต่อ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ สายการบินแจงไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน ด้านสภาธุรกิจไทย–เมียนมา อ้อนขอให้ช่วยเหลือนักธุรกิจ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศที่มีปัญหาให้เท่าเทียมกัน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้เตรียมทำหนังสือถึงผู้ประกอบการโรงแรม เพื่อสอบถามความสนใจ ที่จะเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงิน เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องกับภาคธุรกิจ และพยุงการจ้างงานต่อ จากเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ สำรวจความเห็น 198 โรงแรม มีจำนวนห้องพัก 23,499 ห้อง ในจำนวนนี้ 88.38% เป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม.

โรงแรมมีหนี้คงค้าง 3.2 หมื่นล้านบาท7

ทั้งนี้ ผลการสำรวจเจ้าของธุรกิจ 79.63% หรือ 158 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ 82,437 ล้านบาท มีมูลค่าหนี้คงค้างกับธนาคารวงเงิน 32,172 ล้านบาท แสดงความสนใจจะเช่าโรงแรมต่อจากธนาคาร หลังเข้าร่วม โครงการแอสเซทแวร์เฮ้าซิ่ง (Asset Warehousing) ที่มีคอนเซปต์เดียวกับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ของรัฐบาล

“หลังจากมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เจ้าของโรงแรมหลายแห่ง สงสัยว่าหากเข้าร่วมโครงการ และต้องเช่าโรงแรมจากธนาคารเจ้าหนี้ อนาคตหากต้องการกู้เงิน และขยายกิจการ จะทำอย่างไร โรงแรมจะมีงบการเงินเป็นของตนเองเพื่อกู้และขยายกิจการได้ไหม เพราะฐานะตอนนั้นเป็นเพียงผู้เช่ากิจการ จึงต้องหารือธนาคารอีกครั้ง”

นางมาริสากล่าวว่า โรงแรมที่ร่วมตอบแบบสอบถามพบว่า เป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานในระดับ 5 ดาว สัดส่วน 16.7% โรงแรมที่มีมาตรฐานในระดับ 4 ดาว สัดส่วน 30.3% โรงแรมที่มีมาตรฐานในระดับ 3 ดาว สัดส่วน 40.9% โรงแรมที่มีมาตรฐานในระดับ 2 ดาว สัดส่วน 10.1% และเป็นโรงแรมที่ไม่มีดาวสัดส่วน 2% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลให้หลายโรงแรมตัดสินใจปลดพนักงาน เลิกกิจการ ดังนี้ สัดส่วน 39.9% เปิดกิจการปกติ สัดส่วน 14.65% เปิดกิจการบางส่วน หรือมากกว่า หรือเทียบเท่าหรือครึ่งหนึ่งของภาวะปกติ สัดส่วน 33.38% เปิดกิจการบางส่วน.

สายการบินเข้าไม่ถึง “ซอฟต์โลน”

นายกฤษ พัฒนสาร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 250,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติมาเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน เบื้องต้นแล้วคาดว่า สายการบินไม่น่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ทำให้สายการบินไม่อาจสามารถขอสินเชื่อได้ หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข

“หลังจาก ครม.อนุมัติซอฟต์โลน 250,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สายการบินในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกันกับหลายๆธุรกิจ ได้ทำการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง แล้วว่า เงื่อนไขของซอฟต์โลน ไม่เอื้อต่อการขอสินเชื่อ และ ธปท.ก็รับทราบเรื่องนี้แล้ว”.

วิงวอนช่วยเหลือทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และเมื่อมีการปรับปรุงเงื่อนไขปล่อยกู้แล้ว ภาครัฐควรแบ่งปันให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศได้เข้าถึงด้วย โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศที่คนไทยเข้าไปลงทุน ที่ประสบปัญหาภายในประเทศ เช่น เมียนมา เพราะภาคธุรกิจไทยที่ทำการค้าขายกับเมียนมา และเข้าไปลงทุนในเมียนมา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา ต้องหยุดกิจการ หรือโรงงานชั่วคราว จากคนงานนัดหยุดงานเพื่อไปประท้วง สถาบันการเงินปิด ทำให้ขาด
สภาพคล่อง

ทั้งนี้ ในการเข้าถึงซอฟต์โลนต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของกิจการที่จะขอกู้ให้ชัดเจน เช่น ประเภทธุรกิจ ขนาดของธุรกิจ ความสำคัญของธุรกิจ อีกทั้งจะต้องตรวจสอบให้ดี มิเช่นนั้นจะเกิดการสวมสิทธิ์ และจะต้องกำหนดโทษของการทุจริต เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว

“โกดังเก็บหนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ หากไม่มีการกำหนดมาตรการชัดเจน เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการ ที่ไม่รับผิดชอบต่อหนี้ที่ตนเองก่อ ไม่เกรงกลัวต่อการทำธุรกิจล้มเหลว ไม่กังวลในการกู้หนี้ยืมสิน จะพยายามกู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะกู้ได้ จึงเป็นจุดอ่อนในการทุจริตได้ง่าย เพราะเมื่อกู้มาแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นบ่อเกิดที่จะทำให้สถาบันการเงินเกิดวิกฤติได้ หากต้องทำ ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ