เปิดภารกิจสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ ตลาดหลักทรัพย์พร้อมเชื่อมโลกการลงทุน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดภารกิจสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ ตลาดหลักทรัพย์พร้อมเชื่อมโลกการลงทุน

Date Time: 8 มี.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้น ทั่วโลกในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 หลังราคาเหรียญดิจิทัล “บิทคอยน์” ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปีที่ผ่าน

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้น ทั่วโลกในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 หลังราคาเหรียญดิจิทัล “บิทคอยน์” ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทำให้เรารู้ว่าในโลกดิจิทัล ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการลงทุนในโลกใหม่ได้ง่ายดาย และสะดวกมากขึ้น และยังพบว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย กระโดดเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะเป็นการเก็งกำไรล้วนๆ โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ!!

ขณะที่ธนาคารกลางของชาติต่างๆเกือบทั่วโลก ไม่ให้การยอมรับ หรือรับรองว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน และไม่มี “มูลค่าที่แท้จริง” ในการชำระเงิน ซึ่งต่างจากเงินสดหรือทองคำ!!

ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า มีการเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากจากปลายปี 2563 ซึ่งมีอยู่ราว 160,000 บัญชี ล่าสุด 1 มี.ค.64 ทะยานขึ้นมาที่ 499,812 บัญชี โดยผู้ลงทุน 50% มีอายุไม่เกิน 30 ปี ภายใต้สภาวะที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังหาแนวทางกำกับดูแลและคุ้มครองนักลงทุนที่เหมะสม เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของโลกลงทุน

“ทีมข่าวเศรษฐกิจ” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีโอกาสสัมภาษณ์ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ถึงมุมมอง ภารกิจของตลาดหลักทรัพย์ และความท้าทายของตลาดทุนไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการดึงคนรุ่นใหม่ หรือเจนแซด (Z) ให้เข้ามาใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกในการลงทุน

ภายใต้พันธกิจใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ คือ การเป็นเสาหลักของการเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ!!

สร้างนักลงทุนคุณภาพ

“ภากร” เริ่มต้นว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความสำคัญกับการขยายฐานนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้าง “นักลงทุนคุณภาพ” ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจในการลงทุน โดยเฉพาะ “ผู้ลงทุนหน้าใหม่” ที่อยู่ในกลุ่มคนเจนวาย (Y) และเจน Z รวมทั้ง “นักลงทุนดั้งเดิม” ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

โดยจำนวนบัญชี หรือพอร์ตซื้อขายหุ้นของนักลงทุนบุคคลในประเทศในปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดบัญชีเพิ่มขึ้นถึง 747,063 บัญชี จากปีก่อนๆ ที่เพิ่มเฉลี่ย 250,000–300,000 บัญชีต่อปี และในเดือน ม.ค.64 เพียงเดือนเดียว เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 198,381 บัญชี!!

ดังนั้น จึงอาจไม่ใช่เพียงแค่กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น แต่การลงทุนในตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีการเติบโต สภาพคล่องและมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นในระดับแสนล้านบาท

ถือเป็นความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงิน และการลงทุนแก่ประชาชน เพื่อเป้าหมายในการ “สร้างนักลงทุนคุณภาพหน้าใหม่” เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ ได้เปิดตัว เว็บไซต์ www.setInvestnow.com ที่ถือเป็นคลังข้อมูลความรู้ ข่าวสาร หลักสูตรเรียนรู้การลงทุนตั้งแต่ “เริ่มต้นก้าวแรก” ของการเป็นนักลงทุน รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ ในการยกระดับ และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นนักลงทุนคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าให้ความรู้ที่ตลาดหลักทรัพย์จัดขึ้นทุกปี เช่น งาน SET in the City การส่งเสริมให้หน่วยงานในตลาดทุนให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนสม่ำเสมอ เช่น ร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (IAA) สนับสนุนให้มีบทวิเคราะห์หุ้นครอบคลุมหุ้นขนาดกลางและเล็กมากขึ้น และจัดกิจกรรมให้ความรู้ผ่าน facebook live ตลอดทั้งปี

ดึงเจน Z เข้าถึงการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ในการดึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจน Z ให้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนที่เป็นตลาด traditional หรือตลาดดั้งเดิมอย่างตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะมุ่งตรงไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี อย่างเหรียญดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงกว่ามากนั้น

มีภารกิจที่ตลาดหลักทรัพย์ได้เร่งดำเนินการแล้ว คือ 1.การทำให้นักลงทุน “เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น” 2.ส่งเสริมและผลักดันให้มีสินค้า หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายและน่าสนใจ 3.นักลงทุนต้องสามารถลงทุนด้วยเงินเริ่มต้นได้ตั้งแต่ 1 บาท

โดยตลาดหลักทรัพย์ได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ในการทำให้นักลงทุน “เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น” เหมือนการเข้าไปซื้อขายในตลาดคริปโต ในปัจจุบัน ทั้งการเปิดบัญชีซื้อขายที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว อนุมัติได้เพียงไม่กี่นาทีบนระบบออนไลน์ หรือจอโทรศัพท์มือถือ

แต่ขณะเดียวกัน ยังคงทำ KYC หรือการรู้จักตัวตนลูกค้า และทำแบบประเมินความเสี่ยงให้นักลงทุน โดยที่นักลงทุนจะยังคงได้รับการดูแล และความคุ้มครอง ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับ ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับของตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ หลายโบรกเกอร์ได้เริ่มแล้ว และจะเริ่มเห็นมากขึ้นนับจากนี้

ส่วนการส่งเสริมให้มีสินค้า หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และน่าสนใจ ให้เป็นทางเลือกลงทุนได้ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยุโรป ฯลฯ รวมทั้งหุ้นกู้ ตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ที่ตอบโจทย์ของคนกลุ่มนี้ รวมทั้งการเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยได้ ตั้งแต่ 1 บาท หรือ 100 บาท นั้น

ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์กำลังทำงานร่วมกับโบรกเกอร์ และ บลจ.ในการออกสินค้า เช่น ลงทุนผ่านการถือ DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นตราสารชนิดใหม่ ที่จะทำให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ โดยโบรกเกอร์จะเป็นผู้ออก DR ด้วยการระดมเงินจากนักลงทุนไทย แล้วนำเงินไปซื้อหุ้นต่างประเทศ และออกใบ DR ให้นักลงทุนแทน และนำ DR มาเทรดหรือซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้

ซึ่งการถือ DR เป็นเหมือนการถือครองหุ้นนั้นๆทางอ้อม ผู้ถือจะยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับการถือหุ้นต่างประเทศโดยตรง เช่น เงินปันผล และราคา DR จะขึ้นลงโดยอิงตามราคาหุ้นตัวนั้นๆ ในต่างประเทศ

หรือการลงทุนผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) กองทุนรวมดัชนีที่ลงทุนอิงตามดัชนีสำคัญต่างๆทั่วโลก เช่น ดัชนีหุ้นโลกอย่าง MSCI อยากลงทุนตลาดหุ้นใด ก็ลงทุนผ่าน ETF ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นตลาดหุ้นนั้นๆได้เลย โดย บลจ.และโบรกเกอร์จะเป็นผู้ออก ETF และ DR ขายให้นักลงทุน

มีเงินน้อยก็ลงทุนได้

เราจะพยายามทำให้เงินที่ลงทุน 1 บาท หรือ 100 บาท สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ หรืออาจลงทุนในทองคำก็ได้ ขึ้นกับนโยบายลงทุนของผู้ออกตราสาร หรือกองทุนนั้นๆ เหมือนเราสร้าง Digital Asset บนสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ลงทุน 100 บาท ก็อาจออกเป็นตราสารที่แบ่งเงินไปลงทุนทั้งในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยุโรปอย่างละ 25% หรือ 25 บาท และในอนาคตอาจออก DR ที่นำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนคริปโต และนำ DR เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นก็เป็นได้

“ความต่างคือ ทำอย่างไรให้สามารถลงทุนด้วยจำนวนเงินน้อยๆ ได้ และทำให้การลงทุนในตลาดทุนดั้งเดิม หรือโลกเก่าง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องมีสินค้าหลากหลายจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาลงทุน ทำ ให้เขาเห็นสินค้าได้ง่าย ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมือนเปิดเข้าไปในแอป “ช็อปปี้” หรือ “อโกด้า” แล้วสามารถเลือก และเปรียบเทียบสินค้าที่ต้องการลงทุน และกดซื้อได้เลย แต่ยังคงเป็นการลงทุนที่มีการกำกับดูแล ตามมาตรฐานปกติที่มีอยู่ในปัจจุบัน...

เมื่อทำให้ตลาดเก่าง่ายขึ้น เด็กรุ่นใหม่แทนที่จะวิ่งไปลงทุนโลกใหม่แบบง่ายๆ ก็จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นดั้งเดิม ซึ่งมีผลตอบแทนที่พิสูจน์ให้เห็นมานาน มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะมีธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐานอ้างอิง มีเงินปันผล ดังนั้น อนาคตเขาก็อาจแบ่งเงิน หรือโยกการลงทุนจากคริปโตมาลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือทองคำ ที่เรามีสินค้าโชว์หน้าร้านให้เห็น และเข้ามาซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งน่าจะเริ่มได้เห็นในปีนี้” ภากรกล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำ KYC หรือประเมินความเสี่ยงอาจแตกต่างออกไป เช่น หากมีมูลค่าการลงทุนไม่มาก หรือความเสี่ยงไม่เยอะ ก็อาจทำ KYC เพียงระดับหนึ่ง หรืออาจไม่ต้องทำ อันนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ แต่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ตัวเองลงทุนในสินทรัพย์อะไร มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ต้องเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ หากไม่ต้องการความเสี่ยง หรือไม่ต้องการเสียเงินต้นเลย ก็เลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

เชื่อมโลกการลงทุนเก่า-ใหม่

“ภากร” กล่าวต่อว่า เราไม่ได้มองตลาดคริปโตเป็นคู่แข่ง แต่เป็น 1 ในสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในโลกการลงทุนใหม่ ที่เราห้ามไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ มันเกิดขึ้นแล้ว และเราเห็นว่า มี “เงิน” หรือ “money” ที่วิ่งอยู่ในโลกการลงทุนนี้ ถ้าหากตลาดหลักทรัพย์ไม่ทำอะไรเลย โลกของการลงทุนจะถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วเด็กกับขั้วคนแก่ หรือโลกเก่ากับโลกใหม่ โดยมีประโยชน์ของเราอยู่ตรงกลาง

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องเป็นตัวกลางเชื่อม 2 โลกนี้ เพราะในขณะที่เราไม่สามารถกั้นนักลงทุนบางส่วน ที่อยู่ฝั่งเราไม่ให้ไหลไปในโลกของการลงทุนคริปโตได้

หน้าที่ของเราก็คือ ต้องเชื่อมเพื่อดึงคนในฝั่งของโลกคริปโต ให้เข้ามาลงทุนที่ตลาดดั้งเดิม ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า มีธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐานรองรับที่จับต้องได้ มีระบบการกำกับดูแล และการปกป้องนักลงทุนที่มีมาตรฐาน

แม้ปัจจุบัน การลงทุนในตลาดทุนดั้งเดิม อาจยังไม่ง่าย และรวดเร็วเท่าคริปโต แต่การลงทุนในคริปโตเหรียญดิจิทัลต่างๆ มีทั้งคนที่ได้กำไร และขาดทุน ดังนั้น คนที่จะเข้าไปลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยง และรับผิดชอบตัวเอง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ ยังคงต้องเดินหน้าให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ ส่วนฝ่ายกำกับ ก็พยายามดูแล เพื่อสร้างมาตรฐานให้ แต่ส่วนที่เหลือ ต้องเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนดั้งเดิม ที่เป็นนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ซึ่งลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน และคุ้นเคยกับการลงทุนที่ยังต้องมีมาร์เกตติ้งคอยให้คำแนะนำและส่งคำสั่งซื้อขายนั้น โบรกเกอร์ยังคงดูแลได้เป็นอย่างดี ส่วนนักลงทุนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการบริการส่วนนี้ เพราะลงทุนผ่านออนไลน์โดยตรง ดังนั้น การบริหารจัดการ ทุกอย่าง จึงต้องเป็น personalization ให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละกลุ่ม

ลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน

“ภากร” ยังกล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ คือ การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับทั้งฝั่งนักลงทุน ฝั่งบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาระดมทุน และฝั่งตัวกลางอย่าง โบรกเกอร์และ บลจ. โดยที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ได้ลงทุนระบบ STREMING SETTRADE หรือระบบซื้อขายออนไลน์ เพื่อเป็น share service ทำให้ไม่ต้องมีการลงทุนซ้ำซ้อน หรือแบบต่างคนต่างลงทุน

ขณะที่โบรกเกอร์ และ บลจ. มีหน้าที่สร้างสินค้า หรือผลิตภัณฑ์การลงทุน เพื่อมาวางขายบนแพลตฟอร์มที่ตลาดหลักทรัพย์สร้างขึ้นมา นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังต้องสร้างสายส่งออนไลน์ หรือรถไฟฟ้า เพื่อนำคนเข้ามาหน้าร้าน หรือช็อปปิ้งมอลล์นี้ เพื่อลงทุนซื้อขายสินค้า หุ้น หรือผลิตภัณฑ์ของตลาดทุน ด้วย

ตลาดหลักทรัพย์ยังได้ลงทุนระบบ FUND CONNEXT ระบบซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่เชื่อมต่อกับทุก บลจ. และ บลจ.กับตัวแทนขาย (Selling Agent) เพื่อทำให้ Selling Agent ขายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.กี่แห่งก็ได้ ขณะที่แต่ละ บลจ.ก็สามารถขายหน่วยลงทุนผ่าน Selling Agent กี่รายก็ได้เช่นกัน โดยนักลงทุน สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุน และดูราคาและผลตอบแทนการลงทุนจากระบบนี้ได้เลย ซึ่งจะยิ่งทำให้การลงทุนง่ายขึ้นมาก

ภายใน 3 ปีนี้ จะมีนักลงทุน และ บลจ.เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด พบว่า การซื้อขายหน่วยลงทุนของ บลจ.มากกว่า 50% เป็นการทำธุรกรรมผ่าน FUND CONNEXT ถือเป็นการขยายตัวที่เร็วมาก รองรับการเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมของประชาชนและนักลงทุน โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ย.63 เงินลงทุน หรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม มีมูลค่าสูงถึง 4.49 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่า NAV ของกองทุนส่วนบุคคลอยู่ที่ 1.90 ล้านล้านบาท และยังมีเงินลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพอีก 4.02 ล้านล้านบาท!!

ถือว่าเราได้เดินมาถูกทาง เพราะต้องไม่ลืมว่า จำนวนนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้น และเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุน ก็เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนไปขยายธุรกิจ และสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ