สัญญาณทิศทางดอกเบี้ยโลกกับโควิดที่ (ยัง) ไม่จบ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สัญญาณทิศทางดอกเบี้ยโลกกับโควิดที่ (ยัง) ไม่จบ

Date Time: 16 ม.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • วิกฤติโควิดอาจไม่จบลงง่ายๆ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผลอการ์ดตก หรือถ้าประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันทั่วถึงก็ยังวางใจได้ยาก จึงอยากใช้โอกาสนี้จับสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยในโลก

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

สวัสดีปีใหม่ 2564 ท่านผู้อ่านพร้อมเสียงระฆังโควิด-19 ยกสองที่เริ่มดังขึ้นในไทยอีกครั้งนะคะ ถึงตอนนี้คงต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิดอาจไม่จบลงง่ายๆ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผลอการ์ดตก หรือถ้าประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันทั่วถึงก็ยังวางใจได้ยาก จึงอยากใช้โอกาสนี้จับสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยในโลกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปกันค่ะ

มองย้อนไปช่วงปีที่แล้ว ธนาคารกลางหลายแห่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงมาต่ำเป็นพิเศษและเริ่มพึ่งพามาตรการทางการเงินพิเศษ (unconventional monetary policies) มากขึ้น เพื่อผ่อนคลายต้นทุนการกู้ยืมเงิน ช่วยบรรเทาพิษโควิดต่อเศรษฐกิจ เราเห็นหลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนติด floor หรือทะลุ floor ไปแล้ว รวมถึงหันไปใช้เครื่องมือใหม่ๆ เข้าซื้อพันธบัตรในตลาดการเงินเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้ต่ำลง

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate : FFR) จากต้นปี 2563 ที่ 1.50-1.75% เหลือ 0-0.25% ในเดือน มี.ค. และใช้ forward guidance สื่อสารทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่าจะคงระดับนี้ไปจนกว่าจะมั่นใจว่า เศรษฐกิจกลับมาจ้างงานเต็มที่และเงินเฟ้อกลับเข้าเป้าที่ 2% พอเดือน ก.ย.63 ก็สื่อสารชัดขึ้นว่า จะคง FFR เช่นนี้ไปจนปี 2566 และถ้าดูจากการประกาศกรอบนโยบายการเงินใหม่ของ Fed แบบAverage Inflation Targeting ในเดือน ส.ค.63 หลายฝ่ายประเมินว่า สหรัฐฯจะผ่อนคลาย นานขึ้น ทำให้ FFR น่าจะต่ำนานกว่าปี 2023 และอาจยอมให้เศรษฐกิจร้อนแรงและเงินเฟ้อเกินเป้า 2% ไปสักพัก ก่อนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ Fed ยังใช้ forward guidance สื่อสารทิศทางมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset purchase program) ด้วย ในเดือน ธ.ค.63 ระบุชัดว่า จะยังเข้าซื้อพันธบัตรอย่างน้อยเดือนละ $120 billion จนกว่าจะเห็น “substantial further progress” ที่เศรษฐกิจจ้างงานได้เต็มที่และเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า สะท้อนว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะต่างๆในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเช่นกัน

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (cash rate) จาก 0.75% เมื่อต้นปี 2563 เหลือ 0.25% ภายในเดือน มี.ค. เช่นกัน ซึ่งเป็นระดับที่บอกว่าเป็น floor พร้อมกับเริ่มใช้เครื่องมือ forward guidance ช่วยสื่อสารว่า จะไม่ขึ้น cash rate จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าเป้าแบบช่วงที่ กำหนดไว้ 2-3% อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเริ่มใช้มาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 3 ปี ให้ต่ำลงเท่ากับ cash rate ด้วย ต่อมาRBA ประเมินใหม่พบว่า floor ต่ำลง จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.1% ในเดือน พ.ย.63 และใช้ forward guidance สื่อสารชัดขึ้นว่า จะยังไม่ปรับขึ้น cash rate อย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี รวมถึง ได้ออกมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรระยะ 5-10 ปี เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าต้องการดึงให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำลงเช่นกัน

ขณะเดียวกัน แม้หลายประเทศจะไม่ได้ใช้ เครื่องมือ forward guidance ช่วยปรับทิศทางการคาดการณ์ แต่ก็มีทีท่าว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย ต่ำพิเศษนาน (ultra-low for longer) จากผลสำรวจ ของสำนักข่าว Bloomberg เดือน ม.ค.64 พบว่า ธนาคารกลางกว่าร้อยละ 90 จะคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จึงเป็นไปได้สูงว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกจะต่ำ (ลง) อีกนาน (ขึ้น) หากสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น หรือวัคซีนที่พัฒนามาใช้ไม่ได้ผล

ท่านผู้อ่านอาจได้ใช้โอกาสจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่ำนานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในฐานะผู้กู้/ ผู้ลงทุนที่นำเงินต้นทุนต่ำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม กระจายการลงทุน หรือเพิ่มศักยภาพตนเองให้สูงขึ้น ผู้เขียนขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านให้ยกการ์ดได้สูง สามารถป้องกันตัวเองและคนที่ห่วงใย ไร้แผลเป็นรอดจาก วิกฤติโควิดได้ในที่สุดค่ะ.

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงาน ที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ