ปี 2020 ถือเป็นปีที่ท้าทายเงินในกระเป๋าคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงักจนมาถึงตอนนี้แรงงานในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมยังคงตกงาน หรือได้เงินเดือนเพียง 50-70% เพราะในหลายๆ ประเทศยังไม่เปิดประเทศให้สามารถเดินทางได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงล็อกดาวน์ประเทศเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคนในไตรมาสที่ 2 ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ของปี 2563 หลายๆ คนต้องหยุดงาน หยุดขายของหารายได้ และมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนำเงินเก็บฉุกเฉินมาใช้จ่าย และบางส่วนต้องเข้าโครงการพักหนี้เพราะขาดรายได้ จุดนี้เองถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เงินเก็บสำคัญมากขนาดไหน
แต่ทุกวันนี้คนไทยมักเป็นหนี้ไว และเป็นหนี้เร็วตั้งแต่อายุน้อยๆ เมื่อเจอวิกฤติก็ทำให้หลายคนเริ่มชำระหนี้ไม่ไหว แต่ทุกปัญหามักมีทางออกเสมอ
สำหรับใครที่ค้างชำระ หรือกำลังจะกลายเป็น NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ให้ติดต่อไปที่ คลินิกแก้หนี้ – DEBT หรือติดต่อไปที่ ทางด่วนแก้หนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาดังกล่าว
ส่วนใครที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี จ่ายตรงทุกงวด แนะนำให้ทำการรีไฟแนนซ์ หรือการรวมหนี้ ด้วยการมองหาสถาบันทางการเงินใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่านั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย และลดภาระการผ่อนในแต่ละเดือน
การรวมหนี้บัตรเครดิต
1. ลดภาระทางการเงิน และได้ดอกเบี้ยแบบพิเศษ เช่น การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต หรือการรวมหนี้ไว้ที่เดียวให้กลายเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะให้ดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 26% ต่อปี ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 18% ต่อปี หรือบางใบก็อาจจะมากกว่านั้น ต่อพอรวมหนี้มาที่เดียวทำให้จ่ายดอกเบี้ยได้ถูกกว่า
2. รู้จักบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งการรวมหนี้ จะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น การที่เราใช้บัตรเครดิตหลายๆ ใบอาจจะทำให้หนี้พอกพูน เพราะปกติบัตรเครดิตจะให้วงเงินเกิน 5 เท่าของเงินเดือน
โดยเฉพาะถ้ามีเงินเดือนเกิน 30,000 บาท เมื่อมีบัตรเครดิตหลายๆ ใบหันมาอีกที คือ หนี้มหาศาลเลย แต่ถ้ารวมหนี้เป็นก้อนเดียว จ่ายทางเดียวก็จะทำให้เราจัดการหนี้ได้ และมีเงินเหลือมากขึ้น
ทั้งนี้ อยากจะแนะนำตอนสำคัญที่ช่วยให้เราลดการใช้บัตรเครดิตง่ายๆ ดังนี้
1. โหลด APP บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีอยู่ในมือไว้ทุกใบ แนะนำไม่ควรมีบัตรเครดิตเกิน 3 ใบ
2. ตั้งลิมิตบัตรเครดิตทุกใบ เช่น บัตรเครดิตใบที่ 1 จำกัดใช้ไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน บัตรเครดิตใบที่ 2 จำกัดใช้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
3. ก่อนใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ให้เช็กยอดเงินที่ยังคงใช้ได้ และยอดหนี้ที่รูดไปแล้ว...คิดสักนิดก่อนว่า จ่ายไหวไหม คำนวณดูก่อนว่า หากใช้เงินสดจากบัตรกดเงินสด หรือใช้รูดจากบัตรเครดิตจะคุ้มกว่ากัน
4. หมั่นเช็กแต้มบัตรเครดิต และโปรโมชั่นทุกครั้งก่อนใช้บัตร อันนี้เรียกว่าแรร์ไอเท็ม ซึ่งบัตรเครดิตบางใบใจป้ำแถมให้แบบสุดปัง เช่น โปรโมชั่นลดแล้วลดอีก หรือซื้อแล้วก็แถมแล้วแถมอีก ที่สำคัญมีแต้มก็ควรเอามาแลกใช้เป็นส่วนลด หรือรับเป็นเครดิตเงินคืน
5. อย่าจ่ายขั้นต่ำตลอดไป ส่วนใครจ่ายเต็มทุกงวดถือว่าดี แต่คนที่ไม่ไหวจริงๆ ก็ให้จ่ายขั้นต่ำสลับกับจ่ายเพิ่มในแต่ละเดือน หากมีเงินก้อนก็แนะนำให้ปิดบัตรนั้นไป
รีไฟแนนซ์ รีเทนชั่นบ้าน
รีไฟแนนซ์ (Refinance) และรีเทนชั่น (Retention) คืออะไรแตกต่างกันอย่างไรรวมทั้งจำเป็นไหมที่ต้องทำ ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีทั้ง 2 อย่างช่วยประหยัดดอกเบี้ยบ้าน และลดภาระการผ่อนชำระได้พอสมควร
ทั้งนี้ การรีเทนชั่นนั้นเป็นการขอลดดอกเบี้ยที่ธนาคารเดิม ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งอาจจะทำให้ค่างวดลดลงผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดลงทำให้เงินเก็บเพิ่มขึ้น
ส่วนการรีไฟแนนซ์นั้นเป็นการเปลี่ยนจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง ขั้นตอนก็จะยุ่งยากเหมือนการขอสินเชื่อใหม่ เพียงแต่ดอกเบี้ยถูกลง จำนวนปีก่อนผ่อนลดลง รวมถึงค่างวดลดลงอีกด้วย แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายเช่น ค่าประเมินบ้าน ค่าจดจำนองใหม่ ค่าทำนิติกรรม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่แต่ละเงื่อนไขของธนาคาร
อยากเก็บเงินต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง
เมื่อหนี้ลดลง ดอกเบี้ยหนี้ลดลง ทำให้มีเงินเหลือมากขึ้น สิ่งที่ควรจะทำต่อไป คือ การเก็บเงิน ซึ่งเทคนิคที่สำคัญ คือ ต้องเก็บก่อนใช้ทันที เพราะถ้าหากเก็บทีหลังแน่นอนว่าจะไม่เหลือให้เก็บเลยสักบาท
สำหรับวิธีการออมเงินที่ดีไม่ใช่แค่ฝากเงินเท่านั้น แต่ต้องกระจายเงินที่เก็บออมไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ซื้อสลากไม่ว่าจะเป็นสลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. สลากธอส. ซื้อประกัน ซื้อกองทุนรวม เก็บทองคำ และลงทุนในหุ้น แต่ทั้งนี้ต้องประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ก่อนว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เห็นเงินที่ลงทุนขาดทุนได้หรือไม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุน และการเก็บออมเงินควรคำนึงถึงวัยเกษียณ แม้หลายคนอาจจะมองว่าหนทางนี้ยังอีกยาวไกลแต่ในความเป็นจริงวันเวลาเดินอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวก็หมดปีแล้ว
เมื่อวัยเกษียณก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม หากเป็นเช่นนั้นเราต้องท่องไว้เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ตัวเองเกษียณอย่างมีความสุข เช่น ต้องมีเงินใช้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และต้องมีหนี้เป็นศูนย์ เมื่อโจทย์เป็นเช่นนี้ การฝากเงินในธนาคารจะไม่ใช่คำตอบ แต่การลงทุนเพื่อการเกษียณก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ซึ่งรูปแบบการลงทุนในลักษณะนี้ ก็มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายประเภททั้ง ประกันชีวิต หรือกองทุนรวม เป็นต้น