น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.63 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 63 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการฟื้นตัวในเดือน ต.ค. และไตรมาส 4 น่าจะไม่ดีดตัวขึ้นเหมือนไตรมาส 3 ที่ดีขึ้นจากไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังมีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และบางมาตรการมีแนวโน้มต่อเนื่องไปถึงปี 64 จะช่วยพยุงแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และจำเป็นต้องมีมาตรการระยะยาวควบคู่ไปด้วย หากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง
“สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ ธปท.จับตาในระยะต่อไป มี 3 เรื่องคือ 1.ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้ภาพรวมดีขึ้น มีผู้เสมือนว่างงานหรือทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลง รายได้กลุ่มลูกจ้างนอกภาคเกษตรดีขึ้น แต่จำนวนคนว่างงานในเดือน ต.ค.สูงขึ้นเป็น 2.1% ของจำนวนแรงงานรวมจาก 1.8% ในเดือนก่อนหน้า และยังต้องติดตามผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ไม่มีข้อมูลในระบบ 2.สถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร และ 3.การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่จะส่งผลต่อการส่งออก ท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย”
ส่วนค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องนั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เดือน พ.ย. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.9% เพราะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มที่ตลาดมองว่าหลังการมีวัคซีนต้านโควิด-19 และการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯของนายโจ ไบเดน จะทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลก และของไทยดีขึ้น โดย ธปท.ติดตามค่าเงินบาท 24 ชั่วโมง ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะชี้แจงแนวทางการดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม
“ถ้าถามว่ามีเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรไทยหรือไม่ การลงทุนของเงินต่างประเทศทั้งในตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น ก็หวังผลตอบแทนทั้งนั้น แต่ในช่วงที่ผลตอบแทนในประเทศเกิดใหม่ผันผวน ยอมรับว่ามีเงินทุนไหลเข้าออกสั้นๆในระดับหนึ่ง ซึ่ง ธปท.ดูแลความผันผวนอยู่แล้ว แต่การออกมาตรการควบคุมเงินร้อน ต้องพิจารณาภาพรวม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจริงๆ ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือเตรียมไว้แล้ว แต่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม”.