ย้อนรอยนโยบายเศรษฐกิจไทยในอดีต

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้อนรอยนโยบายเศรษฐกิจไทยในอดีต

Date Time: 9 พ.ย. 2563 05:10 น.

Summary

  • หลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้รับเกียรติร่วมรับประทานอาหารและพบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนและเป็นที่เคารพนับถือในวงการการเงินไทย

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

หลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้รับเกียรติร่วมรับประทานอาหารและพบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนและเป็นที่เคารพนับถือในวงการการเงินไทย และมีข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ชวนให้รัฐบาลแต่ละสมัยได้ฉุกคิดและลงมือทำอยู่เสมอ ในการพูดคุยครั้งนี้ ท่านได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจ เลยขอถือโอกาสนำมาถ่ายทอดและชวนท่านผู้อ่านมาคิดตามกัน โดยในสายตาผู้ใหญ่ท่านนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลและมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย มีอยู่หลายนโยบาย แต่จะยกตัวอย่าง 4 นโยบาย/โครงการ ด้วยกัน

1.นโยบาย “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”: ชื่อนโยบายคุ้นหู ที่บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มีความเจริญไปทั่วเมืองและชนบท ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) นโยบายนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานเด่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และริเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมการลงทุนและเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เพื่อป้องกันภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์

2.โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) : เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้เต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ติดกับอ่าวไทย ซึ่งเป็นช่องทางเข้าออกสำคัญในการส่งสินค้าทางทะเล ถือเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนา Eastern Economic Corridor หรือ EEC ในปัจจุบันนั่นเอง เกิดขึ้นใน พ.ศ.2525 ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) และเป็นปัจจัยที่ทำให้ GDP ของไทยในช่วง 10 ปี คือตั้งแต่ปี 2528 ถึง 2538 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปริมาณมหาศาล ถึงขนาดที่ไทยได้รับการกล่าวถึงว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย

3.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ : หลังจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หนึ่งในมาตรการที่เห็นผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ชัดเจนคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตามการออกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ในรัฐบาลสมัยคุณชวน หลีกภัย ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงขึ้น (แม้จะมีบางรายขาดทุนและต้องเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจต่อไป)

4. การเปิดเสรีการบิน : นโยบายนี้ได้ปรากฏให้เห็นชัดในสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร ประมาณปี พ.ศ.2547 เพื่อมุ่งส่งเสริมให้สายการบินต่างชาติสามารถขยายบริการมายังจุดต่างๆในไทยได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถขนส่งผู้โดยสารออกจากไทยไปยังประเทศที่สามได้มากขึ้นด้วย หากไม่นับกรณีอื้อฉาวที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว นโยบายนี้ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการบินโดยเพิ่มการแข่งขัน สร้างประโยชน์ให้แก่การท่องเที่ยวไทยอย่างก้าวกระโดด และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศได้มาก

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีด้านดีก็มีด้านเสีย อาทิ การพัฒนาโครงการ Eastern Seaboard ที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือการเปิดเสรีการบินที่อาจต้องพิจารณาประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศอย่างระมัดระวังด้วย ดังนั้น ภาครัฐจึงควรชั่งน้ำหนักระหว่างด้านดีกับด้านเสียในการดำเนินนโยบายต่างๆอย่างรอบคอบ และให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละช่วงเวลา

นโยบายในเชิงพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจควรส่งเสริมการแข่งขันและยกระดับศักยภาพการผลิตที่ไม่ได้อิงกับผลลัพธ์ในระยะสั้นเท่านั้นครับ!

โดย สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ