ธปท.วอนลูกหนี้ติดต่อแบงก์ จบพักหนี้ไปไม่ไหวอนุมัติยืดต่อให้ 6 เดือน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.วอนลูกหนี้ติดต่อแบงก์ จบพักหนี้ไปไม่ไหวอนุมัติยืดต่อให้ 6 เดือน

Date Time: 17 ต.ค. 2563 06:03 น.

Summary

  • ธปท.ยืนยันไม่มีใครตกหน้าผา หลังพบลูกหนี้ 94% ที่อยู่ในโครงการพักหนี้เดิมได้รับการแก้หนี้แล้ว ประกาศตามหาลูกหนี้ที่เหลือ 6% หรือ 1.6 หมื่นบัญชีที่ยังหายตัวไป ติดต่อไม่ได้ให้กลับมาเจรจา

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.ยืนยันไม่มีใครตกหน้าผา หลังพบลูกหนี้ 94% ที่อยู่ในโครงการพักหนี้เดิมได้รับการแก้หนี้แล้ว ประกาศตามหาลูกหนี้ที่เหลือ 6% หรือ 1.6 หมื่นบัญชีที่ยังหายตัวไป ติดต่อไม่ได้ให้กลับมาเจรจากับเจ้าหนี้ด่วน! ให้เวลาเจรจาถึงสิ้นปี 63 และให้พักหนี้ต่อได้ในช่วงเจรจา ส่วนธุรกิจที่ไม่ไหวจริงๆ ให้พักหนี้ต่อได้อีก 6 เดือน ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.64 แต่ขอให้ปรากฏตัวคุยกัน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อรับมือการครบกำหนดมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ว่า จากการสำรวจลูกหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งเข้าข่ายที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ หรือเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท พบว่ามีลูกหนี้เอสเอ็มอีเข้าโครงการพักหนี้ทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ในส่วนของสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ 780,000 บัญชี วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ออกมาตรการยืดหนี้ให้เพิ่มเติม 3-6 เดือนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้ไม่มีปัญหาในขณะนี้

ส่วนที่เหลือลูกหนี้จำนวน 270,000 บัญชี มูลหนี้ 950,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้เอสเอ็มอีของสถาบันการเงิน และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) นั้น ธปท.ได้สั่งให้ติดต่อลูกหนี้ทุกรายเพื่อติดตามสถานะ โดยพบว่า 94% เป็นลูกหนี้ที่ติดต่อได้ ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่มากกว่า 50% ของจำนวนนี้แสดงเจตจำนงว่าจะชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ หรือจ่ายได้บางส่วน ซึ่งกรณีนี้ได้หารือกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น การลดจำนวนหนี้ที่ต้องผ่อนส่งรายเดือน ยืดเวลาการชำระหนี้ หรือใช้มาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสมของฐานะการเงินของแต่ละราย ส่วนนี้เมื่อครบกำหนดโครงการพักหนี้คาดว่าจะไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ ธปท.เป็นห่วง คือ ลูกหนี้จำนวน 6% ของลูกหนี้ 950,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นลูกหนี้ 16,000 บัญชี มูลหนี้รวม 57,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากกรณีการปิดกิจการชั่วคราว ย้ายสถานที่ หรือไม่กล้ารับโทรศัพท์เพราะกลัวถูกทวงหนี้ก็ตาม ซึ่ง ธปท.ขอให้ลูกหนี้ส่วนนี้ติดต่อกลับมาหาเจ้าหนี้เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้หรือเพื่อเจรจาหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ โดยให้เวลาในการเจรจากับเจ้าหนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค.63

“สถานการณ์ในขณะนี้เท่าที่ติดตามพบว่า จะไม่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก หลังหมดมาตรการพักหนี้ หรือที่เป็นห่วงว่าลูกหนี้เหล่านี้จะตกหน้าผา เพราะ 94% ของลูกหนี้ที่พักหนี้ได้รับการแก้ปัญหาแล้ว แต่ยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวและมีรายได้กลับมาเพื่อชำระหนี้ได้ ดังนั้น จะมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือต่อไป เพียงแต่การช่วยเหลือจากนี้จะไม่เป็นการช่วยเหลือแบบเหมาเข่ง คือ ทุกรายได้รับการพักหนี้ แต่จะเป็นการเจรจาขอความช่วยเหลือเป็นรายๆ ตามสถานะ ดังนั้น อยากจะให้เอสเอ็มอีจำนวน 6% ที่ยังติดต่อไม่ได้ ติดต่อกลับมาที่เจ้าหนี้เพื่อเจรจากัน และหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ในขณะนี้ ธปท.ก็อนุญาตให้เจ้าหนี้พักหนี้ต่อให้ได้เป็นเวลาอีก 6 เดือน หลังจากช่วงเจรจา หรือให้พักชำระหนี้ได้ต่อจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ปี 64 รวมทั้งให้มีมาตรการในการลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย หรือปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อแก้ปัญหา สถาบันการเงินเจ้าหนี้คงต้องจัดชั้นหนี้ใหม่ และมีโอกาสกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)”

นางรุ่ง กล่าวต่อว่า ลูกหนี้ทั้ง 6% นั้น ไม่ได้หมายความว่าในที่สุดจะเป็นหนี้เอ็นพีแอลทั้งหมด แต่ลูกหนี้จะต้องประเมินตัวเองและยกมือขอความช่วยเหลือเข้ามาเจรจา ซึ่ง ธปท.ได้กำชับสถาบันการเงินแล้ว และสถาบันการเงินก็เข้าใจว่าการช่วยเหลือให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้ดีกว่าปล่อยให้เป็นเอ็นพีแอลแน่นอน ทั้งนี้ การที่ ธปท.เลือกที่ไม่ต่อมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป แต่เปลี่ยนเป็นการเจรจาและพักหนี้แบบเฉพาะเจาะจงนั้น เนื่องจากมองว่าอาจจะส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวใน 3 เรื่อง 1.ลูกหนี้ที่พักหนี้ต่อเนื่องอยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว 2.ทำให้เสียวินัยทางการเงิน 3.ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานคาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ