โควิดทำรายได้หดหาย กดความสามารถชำระหนี้ลดลง ธุรกิจไทยเสี่ยงซมไข้ยาวนาน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิดทำรายได้หดหาย กดความสามารถชำระหนี้ลดลง ธุรกิจไทยเสี่ยงซมไข้ยาวนาน

Date Time: 14 ต.ค. 2563 13:24 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินยอดขายของภาคธุรกิจไทยในปี 63 หดตัวลึก 9.0% และฟื้นตัวจำกัดในปี 2564-2565 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถชำระหนี้ และเสี่ยงทำให้มีธุรกิจ "ซมไข้ยาวนาน"

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินยอดขายของภาคธุรกิจไทยในปี 63 หดตัวลึก 9.0% และฟื้นตัวจำกัดในปี 2564-2565 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถชำระหนี้ และเสี่ยงทำให้มีธุรกิจ "ซมไข้ยาวนาน"

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทาย แม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น

โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลงจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่า อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย หรือ Interest Coverage Ratio: ICR ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่าในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่าในปี 2563


โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม ซึ่ง ICR นี้สะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

"สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ ซมไข้ยาวนาน หรือกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565"

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวว่า จากนี้ต้องจับตามองธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีกิจการซมไข้ยาวนาน ในปี 2563 มากถึง 29% และ 26% ของกิจการทั้งหมด ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้

ขณะเดียวกัน ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะจะกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการซมไข้ยาวนานสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น

ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวสรุปว่าการจัดการกับกิจการ ซมไข้ยาวนาน ที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้

อีกทั้งควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุน ควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์