ผลกระทบโควิดทำ GDP ติดลบ 8.3% ธนาคารโลกชี้ “ไทย” ติดลบสูงสุดในอาเซียน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผลกระทบโควิดทำ GDP ติดลบ 8.3% ธนาคารโลกชี้ “ไทย” ติดลบสูงสุดในอาเซียน

Date Time: 30 ก.ย. 2563 08:31 น.

Summary

  • ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยติดลบ 8.3% ในปีนี้ติดลบมากที่สุดในอาเซียน จากผลกระทบโควิด-19 โดยกรณีเลวร้ายอาจติดลบสูงสุด 10.4% ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดเพิ่มขึ้น 0.9%

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยติดลบ 8.3% ในปีนี้ติดลบมากที่สุดในอาเซียน จากผลกระทบโควิด-19 โดยกรณีเลวร้ายอาจติดลบสูงสุด 10.4% ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดเพิ่มขึ้น 0.9% ต่ำสุดในรอบ 53 ปี ชี้โควิด-19 ทำให้คนยากจนทั้งกลุ่มใหม่และเก่าเกิดขึ้น โดยคาดคนจนทั่วโลกอยู่ที่ 38 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เปิดเผยรายงาน “From Containment to Recovery” ซึ่งเป็นรายงานอัปเดตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยระบุว่ากิจกรรมของเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังฟื้นตัวในบางประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆในโลกนี้อย่างมาก และความต้องการของทั่วโลกนั้นยังคงต่ำอยู่ ทำให้คาดการณ์ว่าการเติบโตของภูมิภาคนี้จะสูงขึ้นเพียง 0.9% ในปี 2563 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2510 หรือในรอบ 53 ปี โดยคาดการณ์ว่าจีนจะเติบโตขึ้น 2.0%อันเนื่องมาจากการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ ในขณะเดียวกันจีนยังสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อใหม่ในระดับที่ต่ำได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศอื่นๆในภูมิภาค EAP ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจจะหดตัวรวมกัน 3.5% อย่างไรก็ตาม โอกาสจะดูสดใสขึ้นในปี 2564 โดยคาดการณ์การเติบโตในจีน 7.9% ในปีหน้า ขณะที่ประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคโตที่ 5.1% อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ผลผลิตไว้ว่าจะยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยแนวโน้มทางเศรษฐกิจจะแย่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีการคาด-การณ์ว่าตลอดปี 2564 ผลผลิตจะยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดเหตุวิกฤติ 10% โดยประมาณ

ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้านต่อประเทศกำลังพัฒนาของ EAP คือ 1.ตัวของโรคระบาดเอง ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จีนมีผลผลิตที่หดตัวลง 1.8% และประเทศอื่นๆของภูมิภาคนี้หดตัวลง 4% โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมการท่อง-เที่ยวนั้นยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน แม้ว่าเงินทุนระยะสั้นได้ไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคแต่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นยังคงสกัดกั้นการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
มีข้อจำกัดมากขึ้น

ความยากจนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีโดยมีประชากร 38 ล้านคนที่คาดการณ์ว่าจะยังตกอยู่ในความยากจน หรือต้องกลับไปอยู่ในความยากจนซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาด (อ้างอิงจากเส้นแบ่งความยากจนของระดับรายได้กลาง-สูงที่ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน)

นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “โควิด-19 ไม่เพียงแต่กระทบกลุ่มคนยากจนอย่างหนักหน่วงที่สุด แต่ยังสร้างคนจนกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยรายงานแจ้งเตือนว่าหากไม่มีการดำเนินการเพื่อรับมือในรูปแบบที่หลากหลาย โรคระบาดอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคน้อยลงในช่วงทศวรรษหน้า หรือช่วง 10 ปี คิดเป็น 1% ต่อปี ซึ่งกระทบต่อครัวเรือนยากจนมากที่สุด

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบ 8.3% ขณะที่ในกรณีที่แย่ที่สุดคาดว่าจะติดลบ 10.4% ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าจีดีพีของไทยในกรณีที่แย่ที่สุดคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5%

ส่วนกรณีเส้นฐานคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.9% โดยประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวติดลบสูงที่สุดในอาเซียนในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะติดลบ 1.6% ในปีนี้ มาเลเซียติดลบ 4.9% ฟิลิปปินส์ติดลบ 6.9% กัมพูชาติดลบ 2% ลาวติดลบ 0.6% โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเวียดนามจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เช่นเดียวกับเมียนมา ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าจะขยายตัวได้ในปีนี้ 0.5%

สำหรับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 63 ติดลบ 7.8% จากที่เคยคาดการไว้ว่าจะติดลบ 8.1% ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.5%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ