“ปลัดคลัง” ย้ำถังเงินคงคลังหนา แนะรีบรับนักท่องเที่ยวหารายได้เข้าประเทศ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ปลัดคลัง” ย้ำถังเงินคงคลังหนา แนะรีบรับนักท่องเที่ยวหารายได้เข้าประเทศ

Date Time: 16 ก.ย. 2563 07:40 น.

Summary

  • คลังยันงบปี 64 ล่าช้า 1 เดือน ไม่กระทบเบิกจ่ายลงทุน-เงินผู้พิการ-สูงอายุ ปัดถังแตก เงินคงคลังแข็งแกร่งมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท แนะรีบเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวประเทศที่ไม่ติดโควิด-19 เข้

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

คลังยันงบปี 64 ล่าช้า 1 เดือน ไม่กระทบเบิกจ่ายลงทุน-เงินผู้พิการ-สูงอายุ ปัดถังแตก เงินคงคลังแข็งแกร่งมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท แนะรีบเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวประเทศที่ไม่ติดโควิด-19 เข้ามาเที่ยวไทย ก่อนเป็นดินพอกหางหมูเพราะกู้เงินอย่างเดียว

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า งบประมาณปี 64 ที่ล่าช้าเพราะบังคับใช้ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.63 จะไม่ส่งผลกระทบกับการลงทุนในประเทศ เพราะบังคับใช้ล่าช้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้งบประมาณ 63 ที่ผ่านมา งบประมาณก็เบิกจ่ายล่าช้าไปถึง 8-9 เดือน แต่การลงทุนก็ยังไม่มีปัญหา

“การเบิกจ่ายล่าช้าติดกันถึง 2 ปีนั้นเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม แต่ผมขอยืนยันว่าไม่มีผลต่อการใช้จ่ายของรัฐบาลในการใส่เงินลงสู่ประชาชนรากหญ้า และการลงทุน ส่วนสาเหตุที่งบปี 64 ล่าช้า เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติงบในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว”

สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยคนพิการและผู้สูงอายุที่ล่าช้าออกไปจากเดิมจะต้องโอนในวันที่ 10 ของเดือนนั้น ไม่อยากให้มองในแง่ร้ายเกินไป เพราะล่าช้าไปเพียงสัปดาห์เดียว โดยสาเหตุที่ล่าช้าเกิดการที่รัฐบาลไม่ได้คำนวณไว้ว่าจะมีผู้สูงอายุมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้ตัวเลขไม่ตรงกับประมาณการและงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งเรื่องนี้ ได้นำเงินส่วนอื่นมาชดเชยแล้ว ส่วนในเดือน ต.ค.นี้ที่จะมีการปรับเพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท คาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะมีเงินเพียงพอ และรัฐบาลเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว

ส่วน ณ สิ้นปีงบประมาณ 63 ยอดจัดเก็บของกรมต่างๆยังเป็นไปตามเป้าหมาย แม้จะมีบางหน่วยงานจัดเก็บต่ำกว่าเป้าบ้าง แต่ยังมีบางหน่วยงานจัดเก็บเกินเป้าเช่นในฝั่งรัฐวิสาหกิจ ส่วนการที่กรมสรรพากรเลื่อนการจัดเก็บรายได้จากเดิมต้องเก็บช่วงกลางปีนั้น จะทำให้มีเงินเข้ามาในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ และยังมีส่วนที่ขอทยอยจ่ายช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.63 เพิ่มเติมอีก ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้จะเพิ่มรายได้จัดเก็บในปีงบ ประมาณ 64

“รัฐบาลยังมีเงินคงคลังอยู่ไม่ต่ำว่า 300,000 ล้านบาท สามารถดูแลยอดจัดเก็บต่างๆ ที่แต่ละกรมคาดการณ์ไว้ได้ ยืนยันว่าถังไม่แตก ถังยังดีอยู่ และหนาหลายชั้น ส่วนในช่วงที่ผ่านมาที่บอกว่าส่งออกแย่ แต่จริงๆการส่งออกของไทยลดลงแค่ 9% เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดี”

ขณะที่ในปี 64 นั้น คาดว่าหลายประเทศจะเริ่มมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมา เช่น ประเทศจีนที่คิดค้นวัคซีนได้แล้ว เป็นต้น ประเทศ ไทยก็ควรเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ติดโควิด-19 เข้ามาเพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว หลังปิดการเข้าออกประเทศตั้งแต่เดือน ก.พ.
ที่ผ่านมา

“ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ประเทศจีน โดยในจำนวนนี้มีกว่า 20 กว่ามณฑลที่ไม่ติดโควิด-19 แม้แต่คนเดียว รวมถึงอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้เข้ามาจะทำให้เกิดเงินสะพัดในเมืองไทยลงสู่เศรษฐกิจฐานราก อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่รับนักท่องเที่ยวเข้ามา มีแต่รายจ่ายกู้เงินมาใช้อย่างเดียว ก็จะเหมือนดินพอกหางหมู จึงต้องมีรายรับเข้ามาเพิ่มด้วย”

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวภายหลังการร่วมลงนาม (เอ็มโอยู) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ภาครัฐ (Digital ID) ว่า กรมสรรพากร จะนัดหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรื่องการตั้งเป้าการจัดเก็บภาษีของกรม ที่ 2.085 ล้านล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 64 ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ในระดับดังกล่าวตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวในระดับ 4-5% แต่ปัจจุบันสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว

“ผลการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 63 ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ จำเป็นต้องรอผลการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลของครึ่งปีแรกที่จะต้องยื่นในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ก่อน” ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ในเดือน ส.ค.นี้ สามารถจัดเก็บได้เกินเป้า 35,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เกินมา เป็นผลจากการที่กรมเลื่อนการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องยื่นภายในสิ้นเดือน มี.ค.เป็นสิ้นเดือน ส.ค.ไม่ได้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ส่วนการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะทำให้กรมสามารถให้บริการผู้เสียภาษีได้ดียิ่งขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ