กองทุน SSF กับ SSFX

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กองทุน SSF กับ SSFX

Date Time: 19 มิ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • เราได้พูดถึงความสำคัญของการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเป็นการออมและการลงทุนระยะยาว เพื่อเป้าหมายไว้ใช้ยามเกษียณไปแล้ว

Latest

ออมสินเปิดแพลตฟอร์มเงินดีดี ปล่อยกู้คนกู้แบงก์ไม่ผ่าน

เราได้พูดถึงความสำคัญของการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเป็นการออมและการลงทุนระยะยาว เพื่อเป้าหมายไว้ใช้ยามเกษียณไปแล้ว

วันนี้ “คุณนายพารวย” จะขอคุยถึงกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นอีกกองทุนที่นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะรัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมแบบผูกพันระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต จึงกำหนดให้ถือลงทุน 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ โดยไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

SSF เป็นกองทุนที่เปิดกว้างให้ลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล กอง REITs ทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นกับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน

สำหรับสิทธิประโยชน์ภาษีนั้น ให้นำเงินลงทุนลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้!!

แต่หากถือไม่ครบ 10 ปี ต้องคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนไปแล้ว บวกเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน คล้ายๆค่าปรับ โดยเงินเพิ่มนี้จะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ของปีที่ยื่นขอลดหย่อนภาษี ถึงเดือนที่ยื่นเรื่องกับสรรพากร รวมทั้งต้องนำกำไรที่ได้มาเสียภาษีเงินได้ด้วย

จึงต้องวางแผนการเงินและตรวจสภาพคล่องให้ดี เพราะเงินที่ลงใน SSF ต้องเป็นเงินที่วางแผนไว้แล้วว่าไม่มีความจำเป็นในการนำมาใช้จ่ายเป็นเวลา 10 ปี แต่เมื่อตัดสินใจที่จะลงทุนระยะยาวแล้ว ก็ต้องมุ่งมั่นรักษาเป้าหมาย แบ่งเงินมาออมให้ได้ทุกปีจะดีมาก แล้ว “ออมลืม” ไปเลยจะได้ไม่ต้องมีเรื่องยุ่งยากตามมา

สำหรับผู้ที่เหมาะสมกับกองทุนนี้น่าจะเริ่มตั้งแต่น้องๆจบใหม่ที่เริ่มทำงาน ควรเริ่มได้เลยเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการออม อย่าลืมคาถากันจน “ออมก่อนรวยกว่า” เริ่มออมตั้งแต่วันนี้ก็เห็นโอกาสมั่งคั่งตั้งแต่วันนี้!!

แต่ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี อาจต้องวางแผนการเงินให้ดี หากซื้อหน่วยลงทุนตอนอายุ 55 ปี จะไถ่ถอนได้เมื่ออายุ 65 ปี แต่ถ้าไม่เดือดร้อนและต้องการมีเงินเข้ามาหลังเกษียณก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ!!

เมื่อพูดถึงกองทุน SSF แล้วต้องพูดถึงกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ที่ตั้งขึ้นตามมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ต่างจาก SSF คือ ให้นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีกไม่เกิน 200,000 บาท โดยไม่ต้องนําไปรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นที่ได้ลดหย่อน 500,000 บาทอยู่แล้ว

และกองทุน SSFX ต้องลงทุนหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ โดยเปิดให้ซื้อหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่ 1 เม.ย. ถึง 30 มิ.ย.นี้เท่านั้น 2 สัปดาห์นี้จึงเป็นโค้งสุดท้ายที่ต้องตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม การลดหย่อนภาษีเป็นเป้าหมายหนึ่ง แต่ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ยาวขึ้น จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับแผนการเงินของตนเอง ส่วน SSF นั้นยังมีเวลาซื้อได้ตลอดทั้งปีและทุกปี เพราะได้สิทธิภาษีไปจนถึงปี 67 โน่นเลย แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจ!!

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ