ขู่เชือดแบงก์มั่วนิ่มลูกค้า เครดิตบูโรชี้ปฏิเสธปล่อยกู้ต้องมีจดหมายยัน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขู่เชือดแบงก์มั่วนิ่มลูกค้า เครดิตบูโรชี้ปฏิเสธปล่อยกู้ต้องมีจดหมายยัน

Date Time: 18 มิ.ย. 2563 08:15 น.

Summary

  • เครดิตบูโรออกโรงเตือน พนักงานแบงก์-สถาบันการเงิน อย่ามั่วนิ่มปฏิเสธสินเชื่อแล้วอ้างลอยๆติดเครดิตบูโร เจอเชือดแน่สั่งปรับ 3 แสนบาท แถมปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะออกเป็นจดหมายมาชี้แจง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!



เครดิตบูโรออกโรงเตือน พนักงานแบงก์-สถาบันการเงิน อย่ามั่วนิ่มปฏิเสธสินเชื่อแล้วอ้างลอยๆติดเครดิตบูโร เจอเชือดแน่สั่งปรับ 3 แสนบาท แถมปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะออกเป็นจดหมายมาชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า เครดิตบูโรได้รับแจ้งจากผู้ยื่นคำขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกหลายรายผ่านช่องทางต่างๆ ว่า เมื่อสถาบันการเงินได้รับรู้ข้อมูลของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อได้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลจากเครดิตบูโรแล้ว ในกรณีที่สถาบันการเงินมีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อแต่ไม่ได้ออกหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายเครดิตบูโร

ตอนนี้ได้ออกหนังสือกำชับให้พนักงานรับทราบแล้ว กรณีปฏิเสธสินเชื่อ แล้วอ้างลูกค้าติดเครดิตบูโร ต้องออกมาเป็นจดหมายชี้แจงลูกค้าให้ชัดเจน ว่าติดเครดิตบูโรอย่างไร จะมาเขียนสั้นๆว่าติดเครดิตบูโรไม่ได้ หรือแจ้งด้วยวาจาก็ไม่ได้ ต้องเป็นจดหมายอย่างเดียวเท่านั้น หากสถาบันการเงินทำผิด มีโทษปรับ 300,000 บาทต่อหนึ่งกรณี และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะมีการออกจดหมายชี้แจงให้ลูกค้า”

ทั้งนี้ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกที่จะต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อทราบเป็นหนังสือหรือวิธีการอื่นใดตามที่ได้ตกลงกันไว้ และเป็นสิทธิของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ ที่จะได้รับหนังสือดังกล่าวเพื่อนำมายื่นใช้สิทธิตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับเครดิตบูโรโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ทำให้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกให้ความเข้มงวดและกำชับการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ถือปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดกรณีที่มีการไม่ปฏิบัติตามก็ขอได้โปรดพิจารณาลงโทษสถานหนักเป็นไปเพื่อป้องกันและบริหารความเสี่ยงด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากปัญหาดังกล่าวยังคงมีจำนวนกรณีเพิ่มมากขึ้นหรือถูกละเลยจนเกินสมควรแล้ว เครดิตบูโรก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาต่อไป

นายสุรพล กล่าวอีกว่า จากมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ 6 เดือน พร้อมทั้งไม่ต้องแจ้งข้อมูลการชำระสินเชื่อเครดิตบูโรมายังเครดิตบูโร ดังนั้นในช่วง 6 เดือนของมาตรการ ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอีทุกราย ข้อมูลเครดิตบูโรจะเป็นสินเชื่อปกติทั้งหมด แม้ว่าลูกค้าจะเข้าโครงการพักชำระหนี้ก็ตาม

สำหรับการขออนุมัติสินเชื่อรายย่อยช่วงไตรมาสแรกปี 63 ที่ผ่านมา พบว่า มีการอนุมัติสินเชื่อบุคคลจำนวน 849,894 บัญชี โดยคนในเจนวาย อายุเฉลี่ย 23-40 ปี ได้รับอนุมัติสินเชื่อสูงสุดในสัดส่วน 50% ของบัญชีที่เปิดใหม่ โดยปรับลดลง 1% จากปี 2562 ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 51% ขณะที่คนเจนแซด อายุน้อยกว่า 23 ปี ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 2% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีสัดส่วนสินเชื่อเพียง 1% ส่วนคนในเจนเอ็กซ์ ที่มีอายุ 41-55 ปี และเบบี้บูม ที่มีอายุ 56-74 ปี สัดส่วนสินเชื่อเท่าเดิมคือ 36% และ 12% ตามลำดับ

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ปล่อยกู้ไป 475,013 บัญชี คนในเจนวาย ได้รับอนุมัติสินเชื่อสูงถึง 54% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 52% คนในเจนแซด ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 2% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับอนุมัติ 1% ส่วนคนในเจนเอ็กซ์ ได้รับสินเชื่อลดลงเหลือ 35% จากปี 62 ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 37% และเบบี้บูมได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลงเหลือ 9% จากปี 62 ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ 10%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ