ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยสถานการณ์การใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุด สิ้นเดือน มี.ค.63 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก และคาดว่าในระยะต่อไปการชำระเงินออนไลน์จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ของคนไทย โดยตัวเลข ณ สิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดลงทะเบียนในระบบพร้อมเพย์ 51 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ทั้งสิ้น 1.2 ล้านหมายเลข รวมทั้ง มีสถิติการใช้งานต่อวันเพิ่มขึ้น
โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ยอดการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ได้ทำสถิติสูงสุดต่อวันใหม่อีกครั้งที่ 15.3 ล้านรายการต่อวัน มีมูลค่าการโอน และชำระเงินรวมทั้งสิ้น 80,400 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสถิติสูงสุดเดิมที่มียอดการทำรายการ 14.6 ล้านรายการต่อวัน ณ วันที่ 31 ม.ค.63 โดยรายการโอนเงินรายย่อยที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 บาทต่อรายการ คิดเป็นจำนวน 90% ของการทำรายการทั้งหมด
ขณะเดียวกัน การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการโอนเงินออนไลน์ประเภทอื่นๆเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยพบว่า อี-มันนี่ในเดือน มี.ค.63 มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น 18% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีค่าเฉลี่ยการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์คิดตามรายการต่อวัน อยู่ที่เฉลี่ย 110 บาทต่อรายการ ซึ่งแสดงว่าคนไทยเริ่มใช้อี-มันนี่ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการใช้จ่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้ง (ธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ) ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค. มียอดการสมัครเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบัญชี จากสิ้นปี 2562 โดยมีปริมาณการใช้ 21.8 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 69% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
นอกจากนั้น การจ่ายเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต มีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปริมาณธุรกรรมการใช้จ่าย 14 ล้านรายการ เติบโต 30% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเห็นการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการโอนเงินออนไลน์ในการซื้อประกัน การจ่ายค่านายหน้าโบรกเกอร์ รวมทั้งการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พบว่าธุรกิจการบิน และการขนส่ง มีการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ลดลง จากผลของมาตรการลดการเดินทางและการลดการแพร่กระจายของโควิด-19.