เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นไข้ เอ็นพีแอลพุ่ง ธปท.ขยายโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3 ช่วยลูกหนี้เอ็นพีแอล-บัตรกดเงินสด-บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล จากเดิมต้องมีเจ้าหนี้ 2 ราย ลดเหลือรายเดียวก็เข้าโครงการได้ เพิ่มเจ้าหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากเดิมเฉพาะแบงก์-นอนแบงก์ เพิ่มยอดคนไทยปลอดหนี้เสีย 5,000 รายในปีนี้ ออมสินเปิดตัวโครงการช่วยลูกหนี้ เดือน มี.ค.นี้ ลดดอกเบี้ยจาก 18-28% เหลือ 8.5-10.5%
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทย อยู่ระหว่างฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนของประเทศ อยู่ในระดับที่กังวลใจ ที่อาจส่งผลให้หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้รายย่อยที่เกิดปัญหาผ่อนชำระหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือขาดส่งเกิน 3 เดือน รวมทั้งลูกหนี้ที่เริ่มไม่แน่ใจว่าจะผ่อนชำระหนี้ได้มีทางเลือกมากขึ้น
ล่าสุด คลินิกแก้หนี้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียของลูกหนี้รายย่อย จึงได้มีการผ่อนเกณฑ์คุณสมบัติของลูกหนี้ ที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างในคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติม การปรับครั้งนี้คือเป็นระยะที่ 3 จากเดิมที่ได้ทำมาแล้ว 3 ปี 2 ระยะ โดยระยะ 1 คือลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการ ต้องเป็น หนี้เสียบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลที่มีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 2 รายขึ้นไป และลูกหนี้ต้องไม่เคยถูกดำเนินคดี และเป็นเอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 1 พ.ค.2560 ขณะที่โครงการระยะที่ 2 ขยายเวลาการเป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 ม.ค.2562 แต่ยังต้องมีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้นไป ซึ่งจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ก็ได้ และยอมให้ลูกหนี้ที่คดีดำ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดี เข้าโครงการได้
ขณะที่การปรับเกณฑ์ในระยะที่ 3 ได้ขยายขอบเขต ให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยจากเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ได้เพิ่มหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้นำมาเข้าโครงการด้วย และแม้ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่มีเจ้าหนี้รายเดียว แต่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ ก็สามารถเข้ามาเพื่อให้คลินิกแก้หนี้ช่วยเจรจาให้ และขยายเวลาการเป็นหนี้เอ็นพีแอลไปจนถึงก่อนวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา และลูกหนี้คดีแดง หรือคดีที่ตัดสินไปแล้ว ก็เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้
ทั้งนี้ ข้อดีของคลินิกแก้หนี้คือ 1.มีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เป็นตัวกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ 2.สามารถผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น ได้ยาวมากที่สุดถึง 10 ปี ทำให้ภาระผ่อนจ่ายในแต่ละเดือนไม่สูง และทำให้ลูกหนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป
“ปีนี้หลังจากที่ขยายเงื่อนไข การแก้หนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 ธปท.ตั้งเป้าว่าจะมีลูกหนี้ใหม่ที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 5,000 ราย จากโครงการ 2 ระยะที่ผ่านมาที่มีลูกหนี้เข้าร่วม 3,194 ราย ครอบคลุมจำนวนบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด 13,000 ใบ ลูกหนี้แต่ละรายมีเจ้าหนี้เฉลี่ย 3 ราย เงินต้นเฉลี่ย 234,843 บาท หลังจากเข้าโครงการแล้ว เงินที่ต้องผ่อนส่งเฉลี่ยต่อเดือนของลูกหนี้แต่ละรายเหลือเพียง 3,144 บาท และมีเวลาชำระหนี้เฉลี่ย 7.5 ปี และมีลูกหนี้ที่ชำระหนี้จบแล้ว 72 รายหรือ 2.3%”
นอกเหนือจากลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ธปท.ยังสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการผ่อนส่ง แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ล่าสุด ธนาคารออมสินที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของคลินิกแก้หนี้ได้เตรียมโครงการช่วยลูกหนี้ที่ดีเช่นกัน
นายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่าเดือน มี.ค.นี้ ออมสิน จะออกโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัย และผ่อนชำระดีเยี่ยม โดยตั้งวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 8.5-10.5% จากเดิมหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ที่มีดอกเบี้ย 18-28%
นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือแอลเอชแบงก์ กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ เช่น ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน, ขยายระยะเวลาเงินกู้ ซึ่งระหว่างนี้จะมีการติดตามและประเมินผลกระทบของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ สอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center โทร.1327.