ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งแบงก์ช่วยประชาชน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งแบงก์ช่วยประชาชน

Date Time: 8 ม.ค. 2563 09:33 น.

Summary

  • ธปท.สั่งแบงก์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระประชาชน เอสเอ็มอีในช่วง เศรษฐกิจชะลอตัวและผันผวนสูง หลังพบคิด ดอกเบี้ย ค่าปรับหลายกรณีเกินจริง

Latest

ขายยากไม่พอ ยังถูก“กดราคา” Roddonjai ลุยตลาดรถมือสอง ตั้งราคาขายเองได้ คนซื้อไม่เจอ “รถโจร-รถซาก”

ยุติดอกเบี้ย-ค่าปรับเกินจริง

ธปท.สั่งแบงก์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระประชาชน เอสเอ็มอีในช่วง เศรษฐกิจชะลอตัวและผันผวนสูง หลังพบคิด ดอกเบี้ย ค่าปรับหลายกรณีเกินจริง ด้านแบงก์ อธิบายที่ผ่านมาปฏิบัติกันมาแบบนี้ ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด แต่ถ้าอยากให้เปลี่ยนก็พร้อม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับประชาชน ซึ่งกู้เงินในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและมีความผันผวนสูง รวมทั้งต้องการให้การคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยปรับของธนาคารพาณิชย์สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

เรื่องที่ 1 ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) ทั้งกรณีสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เช่น สินเชื่อบ้าน ซึ่งจากเดิมนั้น หากลูกหนี้ต้องการที่จะปิดบัญชีโดยไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด ผู้ประกอบการบางรายจะคิดค่าปรับการปิดวงเงิน จากฐานทั้งหมดวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน ทั้งที่ลูกหนี้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยมาแล้วระยะหนึ่ง แต่เกณฑ์ใหม่ของ ธปท. ขอให้คิดค่าปรับเฉพาะยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้งให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอนด้วย เช่น ถ้าผ่อนมาแล้วกี่ปีจะไม่มีค่าปรับ “เหตุผลที่ ธปท.ปรับปรุงค่าปรับในช่วงนี้ เพราะที่ผ่านมา ค่าปรับที่สูงมากทำให้การเปลี่ยนผู้ให้กู้ หรือรีไฟแนนซ์สินเชื่อไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้กู้จำนวนมากต้องรับภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงเกินจำเป็น แต่เมื่อปรับปรุงกรณีดังกล่าว ค่าปรับในการปิดสินเชื่อที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์อีกด้วย”

เรื่องที่ 2 เป็นกรณีการปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยที่ผ่านมาเมื่อลูกหนี้ผิดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงเหลือทั้งหมด ซึ่ง ธปท.เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยเกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (install-ment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดเท่านั้น โดยหากแบงก์มีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยวิธีเดิม ขอให้ปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามควร
นอกจากนี้ ยังขอให้ธนาคารพาณิชย์ขยายช่วง ระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุ สุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

ส่วนเรื่องที่ 3 การคิดค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ในขณะที่ใช้บริการยังไม่ครบกำหนด เช่น จ่ายค่าธรรมเนียมทั้งปีของปี 62 ทั้งปีไปแล้ว แต่ขอยกเลิกบัตรหลังจากใช้ไป 6 เดือน ซึ่งเดิมจะไม่มีการคืนส่วนต่างค่าธรรมเนียมรายปีให้หรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น แต่เกณฑ์ใหม่ ธปท.ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทนนั้น จากเดิมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือจัดเก็บได้ตามต้นทุนจริงและความเหมาะสม

นายวิรไทกล่าวต่อว่า ในช่วงต่อไป การคิดดอกเบี้ย และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ โดย 1.ค่าธรรมเนียมควรต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2. ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 3 ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4. ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธาน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเรียกเก็บค่า ธรรมเนียมการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ค่าเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ และการคืนค่าธรรมเนียมรายปีเมื่อยกเลิกบัตรเครดิตและบัตรเดบิตนั้น เป็นแนวทางที่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติต่อๆกันมา เมื่อ ธปท.เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติจากเดิมที่ทำกันมาในอดีต หรือต้องการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาใหม่ ธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมปฏิบัติตามกฎกติกา “ในอดีตเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์ รวมทั้งการผิดนัดชำระ ไม่มีใครผิดใครถูก เป็นการปฏิบัติตามกันมา แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นหนังสือจาก ธปท.”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ