IAM โชว์ผลงานสางหนี้ กว่า 3 พันล้าน กวาดกำไร 1,200 ล้านบาท

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

IAM โชว์ผลงานสางหนี้ กว่า 3 พันล้าน กวาดกำไร 1,200 ล้านบาท

Date Time: 24 ส.ค. 2562 02:58 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • IAM เปิดตัวเลขสะสางหนี้ด้อยคุณภาพ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ได้ถึง 3,500 ล้านบาท กวาดกำไรกว่า 1,200 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปีกว่า เดินหน้าศึกษาอุปสรรค มุ่งแก้ปัญหาหนี้เสียของประเทศทั้งระบบ

Latest


IAM เปิดตัวเลขสะสางหนี้ด้อยคุณภาพ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ได้ถึง 3,500 ล้านบาท กวาดกำไรกว่า 1,200 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปีกว่า เดินหน้าศึกษาอุปสรรค มุ่งแก้ปัญหาหนี้เสียของประเทศทั้งระบบ พร้อมผลักดันภาครัฐจัดตั้ง "บริษัท บริหารสินทรัพย์แห่งชาติ" สะสางหนี้เสียของภาครัฐ เพิ่มมูลค่าหนี้ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.62 นายธงรบ ด่านอำไพ ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) หรือ IAM บริษัทบริหารสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียวของประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปี 61 ที่ตนเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ และถือเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นทางการของ IAM ถึงเดือน มิ.ย.62 ตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน บริษัทฯสามารถเรียกเก็บหนี้จากลูกค้า ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท ทำกำไรทั้งจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท

โดยผลงานในครึ่งปีแรกของปี 62 (ม.ค.- มิ.ย.62) บริษัทฯสามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท มีกำไรจากผลการดำเนินงาน 591 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 490 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯมีแนวทางในการบริหารจัดการลูกหนี้ มุ่งเน้นการเจรจาลูกหนี้รายใหญ่ ที่มีจำนวนประมาณ 170 ราย คิดเป็น 87% ของมูลค่ารวมหนี้สินทั้งหมดที่บริษัทถูกมอบหมายให้การดำเนินการ คิดเป็น 40,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯจะให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้ เพื่อหาข้อยุติร่วมกันในการพลิกฟื้นธุรกิจ ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ และเรียกเก็บหนี้เพื่อปิดบัญชีลูกหนี้ด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินหลักประกัน หรือการหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ ควบคู่ไปกับการดำเนินคดี บังคับคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับลูกหนี้รายย่อย มี 28,000 ราย มูลค่าหนี้สิน 6,000 ล้านบาท ได้ใช้แนวทางในการบริหารประสิทธิภาพการ ติดตามรับชำระหนี้จากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญภายนอก (Outsource) กับลูกหนี้รายย่อยบางกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัดการติดตามทวงถามให้ได้ผลรวดเร็ว

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้วางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุภารกิจและสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโต ในการนำองค์กรก้าวสู่องค์กรแห่ง Digitalization ที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยในแผนดังกล่าว บริษัทฯมีแนวทางในการขออนุมัติกระทรวงการคลัง เพื่อขอรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินภาครัฐทั้งหมด (SFI) มาบริหารจัดการ โดยไม่จำกัดเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจาก IAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เพียงหนึ่งเดียว ที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และมีระบบบริหารสินทรัพย์ที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า บริษัทฯสามารถทำกำไรในปีแรกและปีที่สองติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการผลักดันให้รัฐจัดตั้ง "บริษัท บริหารสินทรัพย์แห่งชาติ" ขึ้น เพื่อบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของหน่วยงานภาครัฐที่ปัจจุบันมีจำนวนมาก ให้กลับมาเป็นกลไกในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม IAM ยังมุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management : KM) โดยการใช้การจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวพนักงานทุกระดับ ทำให้องค์กรมีกระบวนการเรียนรู้และบันทึกความรู้อย่างเป็นระบบ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล มีการค้นหา สร้าง รวบรวม กลั่นกรอง จัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บุคลากรที่ต้องการใช้ เข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา และพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทฯยังมีโครงการในการศึกษาประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการดำเนินงานบริษัทฯ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งระบบของประเทศไทย ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนการศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ในการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของประเทศ และเสนอแนวทางเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของประเทศต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ