นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สำคัญของประเทศที่ช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ จากปกติการปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้ยาก เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกันและลูกหนี้จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายด้วยตนเอง
โดยตามโครงการนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (SAM) จะเป็นหน่วยงานกลางที่เจรจากับลูกหนี้แทนเจ้าหนี้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรายย่อยมีโอกาสแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและสามารถหลุดจากวงจรหนี้ ซึ่งโครงการนำร่องในระยะแรกครอบคลุมเฉพาะหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ในระยะที่ 2 ซึ่งลงนามกันครั้งนี้จึงได้ขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งจะทำให้โครงการสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้างและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ของ Non-bank มีจำนวนกว่า 80% ของทั้งหมด ในครั้งนี้มีผู้ประกอบการ Non-bank 19 แห่ง ยินดีเข้าร่วมโครงการ และเมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการอยู่แล้วจะทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเกือบทั้งระบบ โดยลูกหนี้ของ Non-bank สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2562 เป็นต้นไป
ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้และช่วยให้การแก้ปัญหาโดยรวมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้จะมีภาระการผ่อนชำระคืนต่อเดือนที่น้อยลง ดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนและคงที่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 10 ปี มีโอกาสผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบซึ่งจะส่งผลให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น.