ประชุมผู้ว่าอาเซียนเน้นยั่งยืน ยกระดับป้องกันภัยทางไซเบอร์
นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงประเด็นหลักในการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ จ.เชียงราย ว่า ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ในส่วนของ ธปท.นอกเหนือจากการร่วมพัฒนาระบบการชำระเงินร่วมกัน ซึ่งลงนามกับหลายประเทศแล้ว มี 3 เรื่องที่สำคัญที่ ธปท.ผลักดันให้เกิดขึ้นในระบบธนาคารอาเซียน คือ สนับสนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายและลงทุนโดยตรงระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ธปท.ได้ทำความร่วมมือเพิ่มเติมที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกันกับ 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ และพม่า ขณะเดียวกันยังได้ขยายความตกลงในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นกับอินโดนีเซีย และมาเลเซียให้ครอบคลุมการลงทุน นอกเหนือจากใช้ในการค้าขาย ขณะที่กัมพูชานั้นอยู่ในระหว่างศึกษาร่วมกันเพื่อที่จะตกลงใช้เงินสกุลท้องถิ่นต่อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลาวและกัมพูชานั้น เราได้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นผ่านการค้าชายแดนอยู่แล้ว
สำหรับเรื่องที่ 2 ที่เป็นประเด็นหลักในการประชุมในครั้งนี้ คือ ธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยนำเสนอแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนปล่อยสินเชื่อ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและสนับสนุนให้ออกพันธบัตรสีเขียว หรือกรีนบอนด์ ในช่วงที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงแนวคิดธนาคารสีเขียว หรือธนาคารเพื่อความยั่งยืน ส่วนประเด็นที่ 3 คือ ป้องกันภัยไซเบอร์ เพราะการเชื่อมโยงระบบการเงินและการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น หากป้องกันภัยจากไซเบอร์ที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินของประเทศ หรือต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นได้ ส่วนนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เผยหลังประชุม รมว.คลังอาเซียนครั้งที่ 5 ว่า ที่ประชุมอาเซียนมีแนวคิดที่จะใช้คิวอาร์โค้ดของไทย เป็นคิวอาร์โค้ดอาเซียน โดยในเร็วๆนี้ ธปท.จะเชื่อมระบบคิวอาร์โค้คกับอาลีบาบา และหลังจากนั้นจะนำคิวอาร์โค้ดของไทยไปช่วยวางระบบที่ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว.