ธปท.เกาะติดหนี้ครัวเรือนพุ่ง หวั่นคนไทยหนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด พร้อมจับตาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์พุ่งขึ้นรวดเร็ว และสถาบันการเงินบางรายปล่อยสินเชื่อเงินทอน โดยให้สินเชื่อเกินมูลค่ารถยนต์เหมือนสินเชื่อบ้าน เตือนเลิกพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชน ถ้าไม่เลิกจ่อออกมาตรการคุมเข้ม
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ธปท.เป็นห่วงหนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่าย และการชำระหนี้ของประชาชนในกรณีฉุกเฉิน เช่น ตัวเองหรือญาติไม่สบาย และมีหนี้ในระบบมากอยู่แล้ว อาจมีปัญหาผ่อนหนี้เก่า หรือต้องกู้หนี้นอกระบบเพิ่ม เกิดปัญหาฐานะการเงินในครัวเรือน ขณะเดียวกัน ยอดการออมเงินของคนไทยลดลง จึงไม่อยากให้เกิดธุรกิจที่ส่งเสริมให้ก่อหนี้เกินตัว
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งในด้านคุณสมบัติการก่อหนี้ และการคิดอัตราดอกเบี้ย ที่ไม่ให้เอาเปรียบประชาชน รวมถึงยังได้ออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยในส่วนของการวางดาวน์ (LTV) เพื่อลดการซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร โดยเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.62 เชื่อว่าจะลดความเสี่ยงสินเชื่อที่อยู่อาศัยลงได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของการซื้อเพื่อเก็งกำไร และลดการปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่มีการปรับราคาที่อยู่อาศัยขึ้นไปเกินจริง เพื่อให้สามารถปล่อยวงเงินสินเชื่อได้มากกว่า
ราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือที่เรียกว่า สินเชื่อเงินทอน ลงได้
“ธปท.ยังได้ออกเกณฑ์คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพราะไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล และผู้ให้บริการสินเชื่อบางราย ปล่อยสินเชื่อเอาเปรียบลูกค้า และล่าสุด สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มียอดการปล่อยสินเชื่อเร่งตัวขึ้นรวดเร็ว ซึ่ง ธปท.ได้ตรวจสอบการให้สินเชื่อของทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ภายใต้การกำกับ ซึ่งเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อเงินทอนเหมือนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท.ยังใช้การเตือนสถาบันการเงินและนอนแบงก์ ไม่ให้ปล่อยสินเชื่อแบบหละหลวม เอาเปรียบลูกค้า หรือสนับสนุนให้ก่อหนี้เกินตัว หากพบว่ามีความเสี่ยงในสินเชื่อเพิ่มขึ้น อาจออกเกณฑ์กำกับดูแลเพิ่มเติม”
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ให้บริการสินเชื่อบางรายกำหนดวงเงินดาวน์ต่ำมาก หรือรถจักรยานยนต์ ผู้ซื้อเกือบไม่ต้องใช้เงินดาวน์ก็นำรถออกมาขับขี่ได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย หาก ธปท.ออกกฎเกณฑ์ควบคุม ไม่ว่าจะกำหนดวงเงินดาวน์ขั้นต่ำ หรือเหมือนกับมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน ถือเป็นเรื่องดี และธนาคารพร้อมปฏิบัติตาม เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงได้
ส่วนนายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุง-ศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก ธปท.ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ และกำหนดมาตรฐานของสัดส่วนวงเงินดาวน์ ถือว่าเป็นเรื่องดี และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจลีสซิ่ง เพราะปัจจุบันวงเงินดาวน์รถยนต์ขึ้นอยู่กับการแข่งขัน ผู้ประกอบ-การแต่ละรายเป็นผู้กำหนด ส่วนกรุงศรีออโต้ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กำหนดวงเงินดาวน์ไว้ในระดับสูงอยู่แล้ว จึงไม่น่าได้รับผลกระทบจากมาตรการของ ธปท.