ธปท.ชี้ทางแก้หนี้ครัวเรือนไทย หยุด! ขาดวินัยการเงิน-ใช้จ่ายเกินฐานะ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ชี้ทางแก้หนี้ครัวเรือนไทย หยุด! ขาดวินัยการเงิน-ใช้จ่ายเกินฐานะ

Date Time: 8 มี.ค. 2562 08:30 น.

Summary

  • บทวิจัย ธปท.สำรวจหนี้ครัวเรือน พบพฤติกรรมคนไทยมีหนี้เพิ่มเพื่อตอบสนองความมีหน้ามีตา ขาดวินัยการเงิน มีบ้านหลังใหญ่ รถราคาแพง

Latest

เปิด 10 อันดับ กองทุนลดหย่อนภาษี ThaiESG ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีสูงสุด

บทวิจัย ธปท.สำรวจหนี้ครัวเรือน พบพฤติกรรมคนไทยมีหนี้เพิ่มเพื่อตอบสนองความมีหน้ามีตา ขาดวินัยการเงิน มีบ้านหลังใหญ่ รถราคาแพง ขณะที่พฤติกรรมครัวเรือนมีปัญหาทางการเงิน มี “ไลฟ์สไตล์” ที่ค่อนไปทางสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินเกินฐานะ พบค่าใช้จ่ายแต่งตัว–ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำงานวิจัยเรื่องหนี้ครัวเรือนไทย : ข้อเท็จจริงที่ได้จาก BOT-NIELSEN HOUSEHOLD FINANCIAL SURVEY นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน นายสุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และ น.ส.ธนัชพร สุขสุเมฆ โดยในงานวิจัยดังกล่าว ธปท.ได้ร่วมกับบริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจ ศึกษาครัวเรือนตัวอย่าง 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศระหว่างเดือน ก.ค.- ส.ค. 2560 ภายใต้ชื่อ “โครงการสำรวจศึกษาปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนไทยและนัยเชิงนโยบาย” เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างกลุ่มครัวเรือนต่างๆ

กรณีที่ 1 คือ ศึกษาสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้กับไม่มีหนี้ และ กรณีที่ 2 ศึกษากลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้แล้วมีปัญหาทางการเงิน กับกลุ่มที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงิน โดยได้คุมปัจจัยต่างๆให้คงที่ เช่น รายได้ สินทรัพย์ทางการเงิน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน อาชีพหลักของสมาชิกในครัวเรือน เป็นต้น เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนกลุ่มต่างๆได้ ซึ่งได้ข้อสรุปใน 2 กรณี คือกรณีแรก ศึกษาว่าครัวเรือนที่มีหนี้ขาดวินัยทางการเงินจริงหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า หลังจากคุมหลายปัจจัยให้คงที่แล้ว กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่า 8% โดยค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าโทรศัพท์สูงกว่า 135% ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงกว่า 275% ขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าซ่อมรถสูงกว่า 631%

ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุที่ค่าซ่อมรถที่สูงกว่ามากส่วนหนึ่งอาจสะท้อนการให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาทางสังคมมากกว่า เพราะเมื่อเพิ่มปัจจัยควบคุมด้านมูลค่ารถยนต์เข้าไปกลับไม่พบความแตกต่างด้านค่าซ่อมรถ แสดงว่าครัวเรือนที่มีหนี้ มีรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่าโดยเฉลี่ย ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้จ่าย หากครัวเรือนไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินด้วยตนเอง การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากภาครัฐจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยั่งยืนได้

กรณีที่ 2 ศึกษาจากครัวเรือนที่มีหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงิน กับครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหา พบว่าหลังจากคุมหลายปัจจัยให้คงที่แล้ว กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงินมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการใช้จ่ายสูงกว่า 18% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง สูงกว่า 376% ค่าซื้อเสื้อผ้าสูงกว่า 562% สะท้อนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือ “ไลฟ์สไตล์” ที่ค่อนไปทางสุรุ่ยสุร่ายกว่า สะท้อนว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหามีแนวโน้มที่จะมีรสนิยม หรือความต้องการที่จะมีหน้ามีตาทางสังคมสูงกว่า

โดยพบว่ามีค่าซ่อมรถและค่าดูแลบ้านที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหา โดยค่าซ่อมรถสูงกว่า 273% และค่าซ่อมบ้าน 276% ทั้งนี้ นอกจากการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังและรสนิยมที่แตกต่างกันแล้ว อีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนมีปัญหาทางการเงินคือ การมีสมาชิกในครัวเรือนที่ประสบปัญหาล้มป่วย ส่งผลให้กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหามีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหา โดยสูงกว่า 322%

จากข้อสรุปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน รวมทั้งการจัดตั้งคลินิกแก้หนี้จะขาดประสิทธิผลและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หากภาคครัวเรือนไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้ เพราะสาเหตุสำคัญของการก่อหนี้และการมีปัญหาชำระล้วนเกิดจากรายจ่ายที่ไม่เพียงพอกับรายได้ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ หรือขาดการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม จำเป็นที่ภาคครัวเรือนต้องตระหนักและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสม รวมถึงการหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยซึ่งจะสร้างปัญหาทางการเงินแก่ครัวเรือนได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ