ผลประโยชน์กุมชะตา ควบรวมทหารไทย-ธนชาต

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผลประโยชน์กุมชะตา ควบรวมทหารไทย-ธนชาต

Date Time: 19 ก.พ. 2562 05:01 น.

Summary

  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 เม.ย.2561 มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคาร

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 เม.ย.2561 มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในระดับอาเซียน

โดยธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกิจการ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายจากการควบรวมยังนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด

ทันทีที่ ครม.มีมติ กระแสควบรวมธนาคารพาณิชย์ก็จุดติดขึ้นทันที โดยมีกระแสการควบรวมกันระหว่างธนาคารกรุงไทยกับธนาคารทหารไทย ผ่านการมองแบบผิวๆ เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทั้งคู่ มีโอกาสควบรวมง่ายที่สุด แต่ไอเอ็นจีแบงก์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของธนาคารทหารไทยไม่เล่นด้วย ดีลดังกล่าวจึงล้มอย่างรวดเร็ว

ไม่นานจากนั้น กระแสควบรวมธนาคารพาณิชย์กลับมาจุดติดอีกครั้ง เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต เห็นพ้องต้องกันสนใจควบรวมกิจการ โดยแต่งตั้งให้แบงก์ออฟอเมริกาเป็นที่ปรึกษาการเงิน

หากมองในเชิงของธุรกิจ คนในวงการธนาคารต่างเห็นตรงกันว่า การควบรวมกันระหว่างธนาคาร 2 แห่ง ถือเป็นการเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกันในลักษณะวิน-วิน

ฝั่งธนาคารทหารไทยมีความแข็งแกร่ง ด้านลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นผู้นำในตลาดดิจิทัลแบงกิ้ง

สร้างความโดดเด่นจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยการนำร่องก่อตั้ง ME by TMB ธนาคารรูปแบบดิจิทัลแห่งแรกของไทย ที่ได้คนรุ่นใหม่และมนุษย์เงินเดือนตอบรับสนับสนุนเป็นอย่างดี

ส่วนธนาคารธนชาต มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรถยนต์ ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของไทย ด้วยสินเชื่อรถยนต์มูลค่า 420,000 ล้านบาท หากมองย้อนหลังกลับไปธนาคารธนชาตเคยมีธุรกิจสินเชื่อครบวงจร หลังเข้าไปเทกโอเวอร์ธนาคารนครหลวงไทย พร้อมนำมาควบรวมกิจการ

แต่ด้วยความที่ไม่ถนัดสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกค้าส่วนบุคคล พอร์ตลูกค้าที่โยกมาจากนครหลวงไทยจึงทยอยหลุดออกไป ทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนชาตเล็กลง ขยับไปโดดเด่นเฉพาะด้านสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเมื่อธุรกิจเปลี่ยน ทิศทางดอกเบี้ยยุคปัจจุบันกลับมาเป็นขาขึ้น โอกาสทองของธุรกิจเช่าซื้อจึงอาจต้องปิดฉากในไม่ช้า

เนื่องจากยุคดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ที่ลากยาวมานับ 10 ปี สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์กำลังจะสิ้นสุดลง เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเป็นรายรับเท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นรายจ่ายของแบงก์กลับเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆคือต้นทุนทางการเพิ่มขึ้นทันที ส่งผลให้กำไรในอนาคตลดลง

การควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับธนชาต ช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน โดยฝั่งของธนาคารทหารไทย ซึ่งไม่มีธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ก็จะมีโอกาสขยายพอร์ตสินเชื่อให้ใหญ่ขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นหากสามารถจัดการต้นทุนการเงินได้ดี ลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนลง จะส่งผลให้กำไรของธนาคารเพิ่มขึ้น

ขณะที่เมื่อมองในเชิงผู้ถือหุ้นใหญ่ ฝั่งธนาคารทหารไทยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 25.92% ของทุนจดทะเบียน รองลงมาไอเอ็นจีแบงก์ถือหุ้น 25.02% ส่วนฝั่งของธนาคารธนชาต มีบริษัททุนธนชาตถือหุ้น 51% และโนวาสโกเทียแบงก์ถือหุ้น 49%

โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้มอบนโยบายชัดเจนให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการ คลัง (สศค.) และสำนักงานรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้โจทย์ของการควบรวมว่า คลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ต้องได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการ แม้สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงไปบ้าง

โจทย์ของ รมว.คลังถือว่าเป็นงานหิน เพราะปัจจุบันราคาหุ้นทหารไทยในตลาดเคลื่อนไหวอยู่ที่หุ้นละ 2.20-2.30 บาท แต่กระทรวงการคลังมีต้นทุนอยู่ที่หุ้นละ 3.80 บาท หรือคิดเป็นต้นทุนที่ 43,183 ล้านบาท สมมติต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีก 8,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ หลังควบรวมมูลค่าหุ้นของธนาคารทหารไทยในสัดส่วนที่คลังถืออยู่ ต้องสูงกว่า 51,183 ล้านบาท จึงจะตอบโจทย์ รมว.คลัง

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สศค.ได้ร่วมกับ สคร. ทำการบ้านร่วมกับฝั่งเอกชน จนได้ข้อสรุปในกรอบใหญ่ว่า ธนาคารทหารไทยจะเพิ่ม

ทุนจดทะเบียน เพื่อนำเงินไปซื้อธนาคารธนชาต โดยคลังใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นที่ต้องต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทั้งให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาร่วมซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้เท่าเดิม

ในฝั่งของคลัง จึงดูเหมือนจะได้ข้อยุติแล้ว แต่ในฝั่งของผู้ถือหุ้นเอกชนของทั้ง 2 แบงก์ โดยเฉพาะโนวาสโกเทียแบงก์กับไอเอ็นจีแบงก์ กระบวนการยังเคลียร์ไม่จบ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า โนวาสโกเทียต้องการถอยออกจากประเทศไทย และเร่ขายหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารธนชาต มาตั้งแต่ 2-3 ปี ขณะที่ไอเอ็นจีแบงก์ซึ่งถือหุ้นอยู่ในทหารไทย มีจุดยืนชัดเจน คือต้องการถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และพร้อมใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งรวมถึงการตั้งท่ารอรับซื้อหุ้นในสัดส่วนของโนวาสโกเทียด้วย ส่วนบริษัททุนธนชาต ยอมลดบทบาทเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3

การควบรวมกิจการในครั้งนี้ จึงยังมีกระบวนการแห่งผลประโยชน์ ให้เคลียร์กันอีกหลายยก.

ประพัฒน์ เนตรอัมพร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ