กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ย 1.75% หนุนขยายตัวเศรษฐกิจ จากภาวะการเงินผ่อนคลาย และอัตราเงินเฟ้อ รับแรงกดดันราคาพลังงานที่ลดลง พร้อมติดตามความเสี่ยงสงครามการค้า ความคืบหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน...
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม
ทั้งนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินในระดับที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
ส่วนอีก 2 เสียง เห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินและสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต
สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ส่าหรับการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการเบิกจ่ายจริงและกรอบวงเงินงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รวมถึงความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป