รุกคุมเข้มสินเชื่อรถยนต์ “ทิสโก้” ผวาดีมานด์เทียมลูกค้าผ่อนไม่ไหว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รุกคุมเข้มสินเชื่อรถยนต์ “ทิสโก้” ผวาดีมานด์เทียมลูกค้าผ่อนไม่ไหว

Date Time: 17 ม.ค. 2562 09:00 น.

Summary

  • กลุ่มทิสโก้คุมเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขยาดดีมานด์เทียม ผ่อนค่างวดไม่ไหวปล่อยยึดมากขึ้น ชี้ยอดขายรถป้ายแดงเหมาะตลาดไทยอยู่ที่ 8–9 แสนคัน

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

กลุ่มทิสโก้คุมเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขยาดดีมานด์เทียม ผ่อนค่างวดไม่ไหวปล่อยยึดมากขึ้น ชี้ยอดขายรถป้ายแดงเหมาะตลาดไทยอยู่ที่ 8–9 แสนคัน แต่ยอดขายจริงทะลุ 1 ล้านคัน 2 ปีติดต่อกัน พร้อมเบนเข็มบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้กลุ่มทิสโก้ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 4% หดตัวจากปี 61 ที่เติบโต 4.3% และปีนี้ยังคงเน้นปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่มีแรงหนุน ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 40,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 30-40% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นหนึ่งในสินเชื่อหลักของธนาคาร ตั้งเป้าอัตราเติบโตไว้ที่ 4-5% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เพราะการแข่งขันของตลาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้ การอนุมัติสินเชื่ออาจต้องลงรายละเอียดลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น เนื่องจากยอดขายรถยนต์ใหม่ต่อปีที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรอยู่ที่ 800,000-900,000 คัน แต่หลายฝ่ายประเมินตรงกันว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ในปีนี้ยังสูงกว่า 1 ล้านคัน หรือใกล้เคียงกับปีก่อนที่มียอดขายเกิน 1 ล้านคัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการเกิดดีมานด์เทียม หรือลูกค้ากู้เงินไปแล้วไม่มีความสามารถผ่อนชำระที่แท้จริง โดยนำรถยนต์ไปใช้ได้แค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี ต้องนำรถยนต์มาคืน เพราะผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว อย่างไรก็ตาม การป้องกันดีมานด์เทียม สามารถทำได้ด้วยการพิจารณาสินเชื่อ ต้องดูจากความสามารถชำระหนี้ที่แท้จริง หรือเรียกเงินดาวน์จากลูกค้าเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกลุ่มขนาดเล็กและกลาง ที่กู้เงินไปแล้วไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดจนเป็นหนี้เอ็นพีแอล มีสัดส่วนประมาณ 7% ของสินเชื่อ ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้การผ่อนค่างวดจะกระท่อนกระแท่น แต่สุดท้ายแล้วก็ผ่อนชำระได้หมด แต่สิ่งที่น่ากังวลเอ็นพีแอลของลูกค้า

ขนาดเล็กและกลางปกติแล้วมีสัดส่วนอยู่ที่ 6-6.5% ของสินเชื่อ แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงเกิน 7% ของสินเชื่อ ดังนั้นต้องคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น

“สถานการณ์เอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ในตอนนี้ ผมยังมองว่าพอไปไหว เราไม่ได้อยากค้าความกับลูกค้า เราอยากช่วยเขาให้ผ่อนจบ แทนที่จะผ่อนจบภายใน 60 เดือนก็อาจจะเป็น 62 เดือน หรือ 64 เดือน ยืดไปหน่อย ขณะลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพในการกู้สินเชื่อรถยนต์ เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนที่ 25,000 บาทขึ้นไป ค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท และหากรวมค่าเติมน้ำมัน และค่าซ่อมบำรุงแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 40% ของรายได้ และหากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท ต้องมีคนค้ำประกัน การผ่อนค่างวด กระเบียดกระเสียรเกินไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ