ตามคาด กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาเป็น 1.75% มีผลทันที ชี้ได้แรงส่งจากเศรษฐกิจในประเทศ ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วน 2 เสียง ห่วงปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่ไม่แน่นอน
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต
นอกจากนี้ เห็นว่านโยบายการเงินที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรว่าความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต
ส่วนอีก 2 เสียง เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้นและอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ แม้การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจจะกระทบต่อแนวโน้มการขายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม แม้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลงบ้างและยังมีแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และจะติดตามการพัฒนาขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป.