มาร์เก็ตแคป2หมื่นล้าน ลุ้น 15 บริษัทระดมทุนตลาด “เอ็มเอไอ”

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

มาร์เก็ตแคป2หมื่นล้าน ลุ้น 15 บริษัทระดมทุนตลาด “เอ็มเอไอ”

Date Time: 2 ต.ค. 2561 08:33 น.

Summary

  • ผู้บริหารเอ็มเอไอ คร่ำครวญขาดแคลนบุคลากรด้านการเงินอย่างรุนแรง ทำให้ขาดที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำบริษัทเข้าระดมทุน ลุ้นปีนี้จะทำได้เพียง 15 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวม 2 หมื่นล้านบาท

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ผู้บริหารเอ็มเอไอ คร่ำครวญขาดแคลนบุคลากรด้านการเงินอย่างรุนแรง ทำให้ขาดที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำบริษัทเข้าระดมทุน ลุ้นปีนี้จะทำได้เพียง 15 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวม 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ก.ล.ต.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ สานฝันภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยในงาน “นวัตกรรมเปลี่ยนโลกตลาดทุน Capital Market Innovation Awards 2018” ว่า ได้ตั้งเป้าจะมีหุ้นใหม่ (IPO) เข้ามาระดมทุนเข้าตลาดเอ็มเอไอในปีนี้รวม 15 บริษัท จากปีที่ผ่านมาทำได้ 17 บริษัท และตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้นใหม่ปีนี้ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท จากปี 2560 ทำได้ 27,000 ล้านบาท และใน 9 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว 6 บริษัท มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวม 6,000 ล้านบาท และอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้พบว่ามี 10 บริษัทที่ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้รับการอนุมัติ เพื่อรอเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) รวม 3 บริษัท อีก 7 บริษัทอยู่ระหว่างรออนุมัติ

“สถิติปีก่อนๆช่วง 3 เดือนสุดท้าย มีบริษัทเข้าตลาดเอ็มเอไอมากกว่าช่วงอื่นๆ และภาวะตลาดขณะนี้ เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนขายหุ้นเข้าตลาด”

ล่าสุด ขณะนี้พบว่ามีบริษัทที่อยู่ระหว่างแต่งตัวปรับโครงสร้างภายใน เพื่อรอเข้าจดทะเบียนในตลาดฯมากกว่า 230 บริษัท แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกมี 84 บริษัท ที่มีที่ปรึกษาด้านการเงิน (FA) และมีแผนที่จะเข้าเอ็มเอไอ ปี 2562-2564 กลุ่มสองมี 70 บริษัทที่มี FA แล้ว แต่ไม่ได้ระบุปีที่จะเข้าเอ็มเอไอ และกลุ่มสุดท้ายมี 70 บริษัทที่ยังไม่มี FA และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับด้านการเงิน เพราะบุคลากรด้านนี้มีไม่เพียงพอ และขาดแคลนจำนวนมาก

“มีบริษัทที่สนใจระดมทุนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอจำนวนมาก แต่ยังขาดบุคลากร โดยเฉพาะ FA, ผู้ตรวจสอบบัญชี และ CFO หรือผู้บริหารสูงสุด ด้านการบัญชีและการเงินขององค์กรทำให้ไม่สามารถเข้า mai ได้ ทำให้แต่ละปีมีบริษัทเข้า mai ได้เฉลี่ย 15 บริษัท หากสามารถแก้ปัญหานี้ได้ อาจได้เห็นธุรกิจหรือบริษัทต่างๆเข้าตลาดเอ็มเอไอได้มากถึง 30 บริษัทต่อปี”

นายประพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้มีธุรกิจสตาร์ตอัพระดับแถวหน้าของเมืองไทย 1 รายอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเข้าตลาดเอ็มเอไอในปีหน้า จากปัจจุบันมีสตาร์ตอัพในประเทศไทย 1,000 ราย และตนมองว่าโอกาสที่ธุรกิจสตาร์ตอัพจะอยู่รอดได้
ในจำนวน 10 ราย จะอยู่รอดได้ 1 ราย ส่วนใหญ่เป็น เอสเอ็มอีที่มียอดขายและมีนวัตกรรมที่สร้างการเติบโตได้ดี โดยสตาร์ตอัพที่จะเข้าเอ็มเอไอเฉลี่ยมีมาร์เก็ตแคปที่ 500-1,000 ล้านบาท

ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างองค์กรในระดับสายการบังคับบัญชาและเพิ่มฝ่ายงานใหม่ โดยแต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการและสับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่ง

ผู้อำนวยการ เพื่อรองรับระบบนิเวศตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้แยกงานด้านการกำกับบัญชีเป็นอีกสายงานหนึ่งโดยเฉพาะ ประกอบด้วยฝ่ายกำกับการจัดทำงบการเงินเพื่อรับผิดชอบ การดูแลรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผู้ลงทุนต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุน และปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น และฝ่ายกำกับการสอบบัญชี ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมทั้งติดตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ๆ เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ