ชง ครม.ไม้ยืนต้นค้ำเงินกู้ได้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชง ครม.ไม้ยืนต้นค้ำเงินกู้ได้

Date Time: 5 ก.ค. 2561 08:56 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ชง ครม.ออกประกาศให้นำ “ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่ หวังส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินตัวเอง

Latest

เคาะมาตรการดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 7 หมื่นล้าน ปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพ-สร้างบ้าน

“พาณิชย์” ปิ๊ง!เพิ่มหลักประกันหนุนการออม

“พาณิชย์” ชง ครม.ออกประกาศให้นำ “ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่ หวังส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินตัวเอง เพื่อการออมในอนาคต สร้างมูลค่าและเพิ่มพื้นที่ป่า รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันขอกู้เงินแบงก์ได้ด้วย

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้เพิ่มทรัพย์สินอื่นเพื่อมาใช้เป็นหลักประกันคือ ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เห็นชอบแล้วและจะเสนอ ครม.เร็วๆนี้

สำหรับประกาศดังกล่าว กรมได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยทุกหน่วยงานสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ต้นไม้ยืนต้น ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

โดยไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีกำหนดให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ มีประมาณ 58 รายชื่อ เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มะขามป้อม หว้า จามจุรี กฤษณา ไม้หอม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน มะขาม เป็นต้น

“หลังจากที่ออกประกาศแล้ว ผู้ประกอบการที่มีไม้เหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อขอกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ ไม่ต้องใช้สินทรัพย์อย่างอื่นๆ มาใช้เป็นหลักประกันก็ได้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้ผู้ขอกู้เงินสามารถใช้ทรัพย์สินประเภทอื่น ที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์มาขอกู้เงินได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น”

นางกุลณีกล่าวว่า ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 ล่าสุด มีผู้ประกอบการนำสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมีทั้งหลักประกันประเภทสัตว์พาหนะ (ช้าง) และกิจการ โดยมูลค่าช้าง ที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 13 ล้านบาท และกิจการ 514 กิจการ ประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านซักอบรีด สวนผัก ผลไม้ สวนยางพารา หอพัก และรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 97 ล้านบาท รวมมูลค่าช้างและกิจการราว 100 ล้านบาท

“การนำประเภททรัพย์สินใหม่ๆมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภททรัพย์สิน และทรัพย์สินเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งสะท้อนได้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น” นางกุลณีกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี 6 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น 3.สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เป็นต้น 4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ขอกู้เงิน ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น และ 6.ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนการขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2559-3 ก.ค.2561 มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 210,730 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวม 4.849 ล้านล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ