นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ก) โดยในช่วงนี้มีลูกหนี้เกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้มียอดค้างชำระหนี้ หากไม่เร่งแก้ไข จะกลายเป็นหนี้เสียทันที ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินมาชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผลิตสับปะรด มะนาว กล้วย มังคุด เป็นต้น โดยกรณีมังคุดนั้น มีผลผลิตน้อย ทำให้ขาดรายได้ ส่วนสับปะรด ผลผลิตออกมามาก ทำให้ราคาตกต่ำ
ทั้งนี้ ยอดหนี้ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขดังกล่าวมีอยู่ถึง 30,000 ล้านบาท หากแก้ไขไม่ได้จะทำให้หนี้เสียของธนาคารปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 6% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.29% โดย ธ.ก.ส.คาดว่าจะสามารถแก้ไขหนี้ได้ราว 60% ของยอดหนี้ดังกล่าว ด้วยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เน้นลดภาระดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง โดยภาพรวมหนี้เสียทั้งปีนั้น ธ.ก.ส.จะรักษาให้อยู่ในระดับ 4% ส่วนการปล่อยสินเชื่อนั้น ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ราว 90,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอีเกษตร ราว 3,000-4,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ 750,000 ล้านบาท
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่า ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปบริหารจัดการหนี้ 44,549 ราย จาก 1,527 สหกรณ์ รวมมูลหนี้ 5,499 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ของเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ.2560 จำนวน 3,359 ราย มูลหนี้ 1,033 ล้านบาท และเกษตรกรที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว 41,190 ราย มูลหนี้ 4,466 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับ สมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนกับ กฟก.ก่อน ซึ่งต้องตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และทำรายละเอียดเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป.