ส่องวิกฤตการณ์เงินทุนไหลออก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่องวิกฤตการณ์เงินทุนไหลออก

Date Time: 25 มิ.ย. 2561 05:15 น.

Summary

  • ปี2561 เป็นอีกปีที่ไทยต้องเผชิญกับทิศทางที่ผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงจังหวะเวลาเดียวกัน

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ปี2561 เป็นอีกปีที่ไทยต้องเผชิญกับทิศทางที่ผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงจังหวะเวลาเดียวกัน

ผลพวงของมันทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิรวมแล้ว 165,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551

ขณะที่เงินบาททยอยอ่อนค่าลงกลับมาแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา อ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 เดือน จากช่วงกลางเดือน มี.ค.2561 ที่เงินบาท แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ที่ 31.09 บาท

ความผันผวนระดับนี้ ผนวกกับบรรยากาศการค้าโลกที่ตึงเครียด จากการปรับขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และกระบวนการตอบโต้จากนานาประเทศ

จะส่งแรงปะทะต่อปากท้องประชาชนในประเทศเล็กๆอย่างเราๆท่านๆอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” ไถ่ถามผู้รู้มาถ่ายทอดต่อให้ติดตาม....

ปรีดี
ปรีดี

ปรีดี ดาวฉาย

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย

นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง ยอดการขายสุทธินับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณ 176,000 ล้านบาท มากกว่าในปี 2560 ทั้งปี ที่ขายสุทธิประมาณ 25,800 ล้านบาท ขณะที่สถานะการถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติเริ่มแกว่งตัวมากขึ้น ยอดคงค้างของพันธบัตรไทยล่าสุดที่อยู่กับนักลงทุนต่างชาติ ณ วันที่ 21 มิ.ย. อยู่ที่ 852,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับระดับยอดคงค้าง ณ ปลายปี 2560

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตการลงทุนในไทยในปีนี้ ทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและพันธบัตร การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็สะท้อนภาพที่ผันผวนในทิศทางที่สอดคล้องกัน เราเห็นเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ที่ 31.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงประมาณกลางเดือน มี.ค. ซึ่งในตอนนั้นอัตราการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นปีที่แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 4.8% แต่หลังจากนั้นเงินบาทก็ทยอยอ่อนค่ากลับมาจนแตะระดับ 33.00 บาทอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา”

สำหรับตัวแปรที่มีผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาทค่อนข้างมาก คือ สัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เปลี่ยนมาคุมเข้มมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจจะปรับขึ้นต่อเนื่องอีกในปีหน้า ประกอบกับความไม่แน่นอนของประเด็นที่ยืดเยื้อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้า ก็มีผลทำให้นักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น การลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เผชิญสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างไปจากไทย

ทิศทางที่อ่อนค่าของเงินบาท ในด้านหนึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเปลี่ยนรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นรายรับในรูปเงินบาทได้มากขึ้น แต่ก็คงต้องยอมรับว่าทิศทางเงินบาทที่อ่อน ก็อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ต้นทุนในส่วนนี้ ก็อาจจะถูกส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าขั้นสุดท้าย ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นแล้วการป้องกันความผันผวนและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงยังคงเป็นโจทย์ที่ไม่ควรละเลยสำหรับภาคธุรกิจ.

วิรไท
วิรไท

วิรไท สันติประภพ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง สามารถเป็นกันชนรองรับกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยได้ โดยในด้านเสถียรภาพต่างประเทศ ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับที่สูง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งปีนี้คาดว่า จะเกินดุล 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สัดส่วนการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติในพันธบัตรของไทยในขณะนี้ อยู่ที่ต่ำกว่า 10% ของตราสารหนี้รวม

“ค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงสิ้นปี ขณะที่บางประเทศค่าเงินอ่อนค่าลงมากกว่า 15-20% บางประเทศอ่อนค่าลงถึง 30% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยรวมค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและตลาดเงินตลาดทุนโลก”

การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในระบบลอยตัว เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากนอกประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้กระทบไทยประเทศเดียว กระทบต่อเงินสกุลหลักๆทั่วโลกด้วย ส่วนเงินทุนที่ไหลออกเป็นสิ่งที่คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น

แต่แม้ขณะนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและยังอยู่ในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะเงินบาทยังมีความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ ผู้ส่งออกควรต้องประกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่า ตอนนี้กลับมาอ่อนค่า จึงต้องระมัดระวัง เพราะ ธปท.อาจดูแลไม่ให้เคลื่อนไหวเร็วเกินไปบางช่วงได้ แต่ไม่ได้ฝืนกลไกตลาด

นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันพุธที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังได้ให้ความเห็น หลังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ว่า ยังไม่กังวลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลออกเพิ่มมากขึ้น

แต่ กนง.ยังให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก มากกว่าจะคำนึงถึงความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ แม้ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะถูกปรับขึ้นเป็น 4.4% จากที่คาดการณ์ 4.1% แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาดพันธบัตร มีผลกระทบในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินมากนัก.

ไพบูลย์
ไพบูลย์

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้

การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยที่รุนแรงในรอบนี้ เป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ หลังมีความกังวลกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดและรุนแรงกว่าที่คาด และกำลังขยายวงกว้างขึ้น

ประกอบกับความกังวลกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มากขึ้น คาดว่าจะปรับขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เฉลี่ยอายุ 10 ปี สูงขึ้นอย่างร้อนแรง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ทั้งเอเชียและไทยอย่างรุนแรง

ล่าสุดหากนับตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องไปแล้วรวมกว่า 165,000 ล้านบาท สูงกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกใหม่ๆ หรือช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 เงินยังไหลออกจากหุ้นไทยแค่ 162,000 ล้านบาทเท่านั้น

และยังเป็นการขายออกมากกว่ามูลค่าที่ต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิในช่วงปี 2552-2555 ซึ่งหมายถึงว่าเงินที่ไหลเข้ามาช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ไหลออกไปหมดแล้ว และบางส่วนยังเป็นหุ้นที่สะสมมาในอดีตด้วย อีกทั้งยังเป็นการเทขาย “หนีตาย” ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มดูดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มที่ดี ราคาหุ้นโดยรวมก็ไม่ถือว่าแพง

โดยยอดขายที่ 165,000 ล้านบาทนี้ คิดเป็นเกือบ 4% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ถือโดยต่างชาติ

“เหตุผลหลักของการขายของต่างชาติรอบนี้ เป็นการขายเพื่อลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั้งหมด มากกว่าที่จะเป็นการขายเพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และเนื่องจากในระยะหลังมีการออกกองทุนประเภท ETF หรือ Index Funds จำนวนมาก ทำให้เวลามีการลดน้ำหนักการลงทุนจะเกิดแรงเทขายที่ค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะกองทุนประเภทนี้สามารถปรับพอร์ตได้ทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาหุ้น

ส่วนต่างชาติจะหยุดขายหุ้นไทย หยุดเลือด หยุดเงินไหลออกมาได้เมื่อไรนั้น เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะนักลงทุนสถาบันต่างชาติ (ไม่รวมหุ้นที่ถือโดย strategic partners เช่น MUFG ใน BAY) ยังเหลือหุ้นไทยอยู่อีกเกือบ 4.6 ล้านล้านบาท

แต่ถ้าดูจากสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ 26.7% ของมูลค่ารวม (market cap) ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี และต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 31.7% เมื่อปี 2555 ค่อนข้างมาก น่าจะพอประเมินได้ว่าแรงขายต่างชาติไม่น่าจะมีสูงมากนับจากนี้

จึงเชื่อว่าเมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มคลายกังวลเรื่องผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและเรื่องสงครามการค้า และเริ่มแยกแยะประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแรงออกจากกลุ่มประเทศที่อ่อนแอได้แล้ว

เงินต่างชาติน่าจะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนวโน้มตลาดหุ้นที่ยังเป็นขาขึ้น.

อภิศักดิ์
อภิศักดิ์

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สถานการณ์ค่าเงินในเวลานี้ ส่วนตัวเห็นว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าของไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ไม่ได้แข็งค่าหรืออ่อนค่ามากเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าไทยที่ส่งออกขายยังต่างประเทศ

ดังนั้น ค่าเงินบาทไม่ว่าจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า ก็ขอให้อยู่ในระนาบเดียวกับประเทศคู่ค้าของไทย ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทำให้เงินบาทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

“ทุกครั้งที่เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกก็จะบอกว่าขาดทุนอยู่ไม่ได้แล้ว แต่พอเงินบาทอ่อน ผู้ส่งออกก็ไม่โวยวายอะไร เพราะขายสินค้าแล้วได้กำไรมากขึ้น ขณะที่ผู้นำเข้าประสบภาวะขาดทุน ก็ถือว่าการขึ้น–ลงของค่าเงินบาท มีทั้งคนที่ได้และคนเสีย สลับกันไปมา”

การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ยังไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ แต่เป็นปัจจัยมาจากต่างประเทศ เช่น กรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกที่ได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน จึง
ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว รวมทั้งไทยด้วย

แต่เม็ดเงินที่ไหลออกต้องถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนเพื่อหวังเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดตราสารของไทย เป็นเงินร้อนที่เราไม่ต้องการอยู่แล้ว ทำให้เงินทุนที่ไหลออกในช่วงนี้ไม่มีผลเสียต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ตามศักยภาพประมาณ 4.2-4.5% ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นเรื่องระยะสั้น เป็นปัจจัยลบที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นอีกประเด็นที่กำลังปะทุ ก็คาดว่าจะจบลงในระยะสั้น เพราะหากสงครามการค้ายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด ความเสียหายก็จะมีกับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าที่ประเมินขณะนี้ ไม่น่ารุนแรงมากนัก เนื่องจากเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศทะเลาะกัน โอกาสที่สหรัฐฯและจีนจะสั่งซื้อสินค้าจากไทยก็มีมากขึ้น.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ