ฝากคลัง-ธปท.แก้มาตรฐานบัญชี "สมคิด" ชี้ค่อยๆทำ อย่ากระทบเศรษฐกิจฟื้น

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ฝากคลัง-ธปท.แก้มาตรฐานบัญชี "สมคิด" ชี้ค่อยๆทำ อย่ากระทบเศรษฐกิจฟื้น

Date Time: 11 พ.ค. 2561 09:15 น.

Summary

  • “สมคิด” ฝากคลัง–ธปท.–กกบ.หาข้อสรุปผ่อนปรนมาตร-ฐานบัญชีใหม่ IFRS9 โดยอนุกรรมการ กบ.จะประชุมครั้งแรกวันนี้ (11 พ.ค.) ขณะที่นายแบงก์ระบุเป็นการเพิ่มต้นทุนการสำรองหนี้...

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

“สมคิด” ฝากคลัง–ธปท.–กกบ.หาข้อสรุปผ่อนปรนมาตร-ฐานบัญชีใหม่ IFRS9 โดยอนุกรรมการ กบ.จะประชุมครั้งแรกวันนี้ (11 พ.ค.) ขณะที่นายแบงก์ระบุเป็นการเพิ่มต้นทุนการสำรองหนี้ และเอสเอ็มอีอาจจะได้รับผลกระทบให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็พร้อม เพราะเตรียมการมา 2 ปีแล้ว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องการให้เลื่อนการบังคับใช้ มาตรฐานทางบัญชีใหม่ หรือ IFRS9 ที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2562 ออกไปเป็นปี 2565 ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาวิชาชีพทางบัญชี หารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ไม่ใช่การแทรกแซง ทั้งนี้ ให้นโยบายว่าการกำหนดมาตรฐานทางบัญชีต้องดูความเป็นจริงและเหมาะสมกับประเทศไทย แม้มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การบังคับใช้ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว และอย่าไปบังคับ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งจะฟื้นตัว และยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 แต่การบังคับใช้ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจในวงกว้าง เนื่องจากระบบบัญชีใหม่จะมีการสำรองที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงรวมถึงเอสเอ็มอี ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้ตั้งคณะ อนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสียต่างๆ โดยจะประชุมในวันนี้ (11 พ.ค.) และ กกบ.จะประชุมเดือนหน้าแต่ยังไม่มีกรอบเวลาในการสรุปในเรื่องนี้ที่ชัดเจน

“แม้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปี ถือว่ามีความพร้อมแล้ว เงินกองทุนแข็งแรง แต่เมื่อเริ่มใช้จริงก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องตีความเพิ่มอยู่ยังไม่ 100% ก็คงจะต้องแก้ไขเป็นจุดๆไป แต่ความกังวลถึงผู้ประกอบการในบางกลุ่ม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังมีระบบบัญชีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ไม่กระทบมากนัก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ผล กระทบมากน้อยแค่ไหนต้องรอหลังประกาศใช้”

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการเลื่อนจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาตินั้น นายปรีดีกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากธนาคารพาณิชย์ เพราะเราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการหารือ และเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สมาคมธนาคารไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของ กกร. จึงต้องดูถึงผลกระทบในวงกว้างด้วย ทั้งนี้ การที่ประเทศอื่นใช้แล้ว หรือไม่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อม และโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเขาอาจจะมีกลุ่มเอสเอ็มอีน้อย แต่เรามีมาก ความพร้อมก็ต่างกันไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมตัวในเรื่องดังกล่าวมากว่า 2 ปี จึงไม่มีผลกระทบใดๆ จากการเลื่อนหรือไม่เลื่อนใช้ระบบบัญชีใหม่ IFRS9 แต่ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น บางส่วนยังไม่เข้าใจถึงระบบดังกล่าว ซึ่งการจะเลื่อน หรือไม่เลื่อนนั้นอยู่ที่ความพร้อมของผู้ประกอบการมากกว่า หากปรับไม่เร็วก็จะได้รับผลกระทบ และหากมีการเลื่อนก็เป็นการให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวมากกว่า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมโดยทยอยตั้งสำรองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าหากกฎเกณฑ์ออกมาอย่างชัดเจนแล้วธนาคารถึงจะประเมินถึงผลกระทบได้ โดยขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเราจะต้องตั้งกี่ % ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทยอยตั้งมาอย่างต่อเนื่อง และไตรมาส 2 นี้จะทยอยตั้งเพิ่มขึ้นต่อ เพราะไม่รู้ว่าเราตั้งเกินไปเท่าไหร่ หรือยังขาดมากน้อยแค่ไหน โดยกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการตั้งสำรองคือ ต้นทุนของธนาคาร ซึ่งพอต้นทุนเพิ่มขึ้น ธนาคารก็ต้องส่งต่อไปยังลูกค้า ซึ่งการปล่อยกู้ของธนาคารต้องดูตามความเสี่ยงเป็นรายๆ ซึ่งถ้าความเสี่ยงน้อยก็จะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ถูก แต่ถ้าความเสี่ยงสูงก็ต้องคิดดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ