ปีนี้แบงก์รายได้หด 9 พัน ล. สังเวยสงครามเดือด “ค่าธรรมเนียม” ฟรี

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปีนี้แบงก์รายได้หด 9 พัน ล. สังเวยสงครามเดือด “ค่าธรรมเนียม” ฟรี

Date Time: 30 มี.ค. 2561 10:15 น.

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสงครามแข่งฟรีค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ ทำปีนี้รายได้หดหายรวมกัน 9,000 ล้านบาท ขณะที่ปีหน้าลุ้นโขกค่าธรรมเนียมอื่นมาช่วย แต่ในภาพรวมคนได้ประโยชน์...

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสงครามแข่งฟรีค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ ทำปีนี้รายได้หดหายรวมกัน 9,000 ล้านบาท ขณะที่ปีหน้าลุ้นโขกค่าธรรมเนียมอื่นมาช่วย แต่ในภาพรวมคนได้ประโยชน์ ขณะที่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 4% ติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ด้านค่าเงินบาทไตรมาสที่ 2 ยังคงแข็งค่าต่อ

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม โอนเงิน จ่ายบิล และเติมเงิน ผ่อนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ จะส่งผลกระทบต่อกำไรระยะสั้น เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้หายไป 9,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพียง 2-3% จากปี 60 ที่ผ่านมาเติบโตถึง 7.1% โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 174,000 ล้านบาท มีรายได้ค่าธรรมเนียมสูงถึง 190,000 ล้านบาท หรือ 20% ของรายได้ทั้งหมด แต่หากพิจารณาเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และพร้อมเพย์ มีสัดส่วนประมาณ 7-10 %

ทั้งนี้ แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในปีหน้ายังคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพราะแม้ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ลดลง แต่ธนาคารยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น นายหน้าจากการขายประกัน บัตรเครดิต ปริวรรตเงินตรา ตลาดทุน เป็นต้น จะมาช่วยชดเชยส่วนที่ปรับลดลงได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ธนาคารจะต้องมีการลดต้นทุนในส่วนอื่นเพื่อรักษาผลประกอบการไม่ให้ได้รับผลกระทบ หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในระยะยาวธนาคารจะได้ประโยชน์ เพราะจะมีจำนวนลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย ซึ่งธนาคารก็จะได้ข้อมูล และนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อ และบริการอื่นๆในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อีก 10 ปี การใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีสัดส่วนถึง 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตสูงถึง 100%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ศูนย์วิจัยฯ ยังคงประมาณการการขยายตัวการส่งออกปีนี้ที่ 4.5% แม้ว่าสหรัฐฯจะประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เนื่องจากยังมีความต้องการสินค้าในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าการส่งออกของไทยมีโอกาสโตในกรอบบนที่ 7% โดยต้องติดตามรายละเอียดมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯที่มีต่อจีน ซึ่งจะชัดเจนในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ทั้งนี้ ยังขอคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ก่อนที่ 4% และ ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งหน้า หลังจากที่การประชุม กนง. เมื่อวานนี้มีมติไม่เป็นเอกฉันท์

“ในครึ่งปีแรกนี้จีดีพีไทยอาจโตได้ 3.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.1% ซึ่งไม่มีนัยสำคัญ โดยตัวเลขจีดีพีได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ล่าช้า และในครึ่งปีหลังเรามองว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ดีที่ 4.1% แต่ในไตรมาสที่ 2 อาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและการส่งออกอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงจากการที่ไทยติดในรายชื่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของทางการอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในจังหวะที่รวดเร็วและผันผวน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะออกมาตรการกีดกันสินค้าจากไทยโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากจากเงินบาทที่แข็งค่า คือ ยางพารา อาหารทะเลสด เม็ดพลาสติก เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 2 ปี 61 คาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องและมีโอกาสแตะ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่เปลี่ยนสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย และยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ