สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในเมืองไทย บล็อกเชนลดต้นทุนการเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในเมืองไทย บล็อกเชนลดต้นทุนการเงิน

Date Time: 20 มี.ค. 2561 09:20 น.

Summary

  • 14 ธนาคาร 7 ภาคธุรกิจ และ 4 องค์กรด้านกฎหมายและฟินเทค ตกลงร่วมมือสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative นำบล็อกเชนมายกระดับ ลดต้นทุนภาคธุรกิจ การเงินไทย...

Latest

ขายยากไม่พอ ยังถูก“กดราคา” Roddonjai ลุยตลาดรถมือสอง ตั้งราคาขายเองได้ คนซื้อไม่เจอ “รถโจร-รถซาก”

14 ธนาคาร 7 ภาคธุรกิจ และ 4 องค์กรด้านกฎหมายและฟินเทค ตกลงร่วมมือสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative นำบล็อกเชนมายกระดับ ลดต้นทุนภาคธุรกิจ การเงินไทย นำร่องโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน ช่วยลดระยะเวลาการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน ช่วยให้การซื้อขายพันธบัตรลดลงจาก 15 วันเหลือ 2 วัน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและภาคธุรกิจ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ Thailand Blockchain Community Initiative ชุมชนที่จะร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างบล็อกเชนมายกระดับภาคธุรกิจไทย ประกอบด้วยธนาคาร 14 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย เกียรตินาคิน ซีไอเอ็มบีไทย ทหารไทย ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ ธนชาต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และออมสิน ร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง

ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง บมจ.ไออาร์พีซี และเครือปูนซิเมนต์ไทย โดยมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ให้คำปรึกษาด้านการจัดการภาพรวมของโครงการ รวมถึงด้านกฎหมาย 4 แห่ง ประกอบด้วย แอคเซนเจอร์ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และไอบีเอ็ม นับเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นายปรีดี กล่าวต่อว่า โครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน จะเป็นโครงการแรกภายใต้ Thailand Blockchain Community Initiative โดยใช้โครงข่ายเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อถือได้ ปลอดภัย โดยโครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การใช้เอกสารที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งจะมีความปลอดภัยสูง ตรวจสอบได้ง่าย ปลอมแปลงได้ยาก ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าตรวจสอบได้ ทุกที่ ทุกเวลา และจะบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านระบบ Cloud Technology จึงช่วยให้ผู้ใช้งานมีความคล่องตัวสูง เพราะสามารถกำหนดการตั้งค่าใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น รองรับการทำธุรกรรมและตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ในปี 2560 ตัวเลขประมาณการของประเทศไทยที่ออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับ ขยายตัวจากปี 2559 ที่ 8% ในจำนวนนี้เป็นการออกเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพียง 15-20% ดังนั้น โดยภาพรวมระบบเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการออกหนังสือค้ำประกันในรูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและภาระในการจัดการด้านเอกสาร ทั้งสำหรับธนาคารผู้ออก และภาคธุรกิจผู้ใช้งานหนังสือค้ำประกัน

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในการใช้บล็อกเชนระหว่างธุรกิจภาคต่างๆนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาคธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและภาคธุรกิจ โดยโครงการดังกล่าวนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยกลไกการทดสอบระบบปิดก่อนการนำมาใช้จริง (Regulatory Sandbox) โดยภาคธนาคารและธุรกิจจะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยไม่ต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเองทั้งหมด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการโดยที่ผ่านมา ธปท.ยังร่วมมือกับธนาคารใช้บล็อกเชนพัฒนาขั้นตอนการออกพันธบัตร (บอนด์) เร็วขึ้นจาก 15 วัน เหลือ 2 วัน รวมถึงการลดระยะเวลาการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินเร็วขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ