นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า เกณฑ์ควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย.นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต มีรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 10% หลังจาก ธปท.ปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 20% ต่อปี เหลือ 18% ต่อปีอย่างไรก็ตามในปัจจุบันบัตรเครดิตทั้งระบบมียอดสินเชื่อ 350,000 ล้านบาท มีสัดส่วนผ่อนชำระ 60% และอีก 40% เป็นการชำระเต็มจำนวน ดังนั้น เมื่อ ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย 2% สัดส่วนที่ผ่อนชำระ 60% จะมีรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป
ทั้งนี้มาตรการควบคุมสินเชื่อบุคคล ให้ผู้มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท อนุมัติสินเชื่อได้ไม่เกิน 1.5 เท่า จะไม่ ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารจับกลุ่มลูกค้าตลาดบน แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ที่จับลูกค้าในตลาดล่าง
นายฐากร กล่าวอีกว่า เมื่อ ธปท.ออกมาตรการต้องการให้ผู้ประกอบการชะลอสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต และเน้นปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ ประกอบกับผลจากภาวะเศรษฐกิจ ในส่วนของบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในตลาดล่าง จึงชะลอการทำตลาด หรือไม่บุกตลาดเหมือนที่ผ่านมา ทำให้การหาลูกค้าใหม่ทั้งสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตปีนี้ต่ำกว่า 20% จากต้นปีกำหนดปีนี้มีฐานลูกค้าใหม่ 890,000 บัญชี ก็จะปรับลดลงเหลือ 700,000 บัญชี
ด้านนางสาวณญานี เผือกขำ ในฐานะประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า เกณฑ์ควบคุมสินเชื่อบุคคลใหม่ของ ธปท.ที่กำหนดรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่า และไม่เกิน 3 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกค้าเดิมไม่สามารถใช้บริการสินเชื่อบุคคลได้ 10% ขณะที่ปัจจุบันลูกค้าสินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่ใช้บริการกับผู้ประกอบการเพียง 2 แห่ง ขณะที่ ธปท.ยังเปิดช่องให้ใช้บริการแห่งที่ 3 ได้ แต่ต้องปล่อยกู้ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้.