นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทในขณะนี้เทียบกับตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องประมาณ 7% ว่า เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสำคัญจากความไม่มั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมายังมีเงินลงทุนโดยตรงของภาคธุรกิจต่างชาติที่ไหลเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้ในภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาทจะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาค แต่ระยะหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สะท้อนปฏิกิริยาของตลาดที่อ่อนไหวกับความผันผวนในระยะสั้นที่มากเกินไป ดังนั้น ธปท.จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และขอให้ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากเทียบในภูมิภาคเอเชียค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้นจากต้นปี 2560 โดยแข็งค่าขึ้น 8% แข็งค่า ตามมาเป็นที่ 3 คือ ดอลลาร์ไต้หวัน แต่หากเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากที่สุดโดยแข็งขึ้น 7% เมื่อเทียบกับต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยสิงคโปร์ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 6% อินโดนีเซีย รูเปีร์ยะ แข็งค่าขึ้น 5.5% เงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่าขึ้น 4.8% ขณะที่ ฟิลิปปินส์ เปโซ อ่อนค่าลง 2.2% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้น 5% จากต้นปี 2560 ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้น 2.8% และเงินรูปี อินเดียแข็งค่าขึ้น 1.2%
ทั้งนี้ หลังจากที่ ธปท.ได้ออกมาระบุว่ามีการติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (25 ก.ค.) ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปิดที่ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเปิดตลาด 40 สตางค์ หรือ 0.12%.