ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ในเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปิดรับฟังความเห็นของประชาชนไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2560 และได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยในหลักการจะยกระดับของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ขึ้นเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เรียกว่า “ธนาคารที่ดิน” มีบทบาทและหน้าที่คือ ซื้อที่ดินการเกษตรคืนจากสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินการเกษตรถูกแปลงสภาพไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารที่ดินจะมีทุนประเดิมจากการอุดหนุนของงบประมาณ 5,000 ล้านบาท มีฐานะเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่นเดียวกับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือ ซื้อที่ดินสำหรับการเกษตรจากสถาบันการเงิน และนำที่ดินดังกล่าวไปให้เกษตรกรเช่าหรือขาย โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีที่ทำกินเป็นของตนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารที่ดินแห่งนี้จะมีอำนาจในการเจรจาขอซื้อที่ดินจากสถาบันการเงินได้เฉพาะที่ดินที่ใช้สำหรับการเกษตร และที่ดินที่จะซื้อคืนต้องเป็นทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) เนื่องจากเอ็นพีเอคือทรัพย์สินที่มีสถาบันการเงินเป็นเจ้าของและได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจากศาลจนถึงที่สิ้นสุดแล้ว โดยจะเปิดโอกาสให้ธนาคารที่ดินสามารถเข้าไปซื้อเอ็นพีเอในราคาที่ผ่อนปรน เพื่อนำที่ดินดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินรายเดิม หรือเกษตรกรรายใหม่เช่า หรือซื้อขายก็ได้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์อาชีพเกษตรกรและรักษาที่ดินทำกินไว้
ส่วนกรณีที่ดินเกษตรที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารที่ดินจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด เนื่องจากกระบวนการฟ้องร้องยังไม่มีข้อยุติ ส่วนหากทุนประเดิมจำนวน 5,000 ล้านบาท ไม่พอเพียง กระทรวงการคลังจะค่อยๆทยอยเพิ่มทุนให้.