การบินไทย เตรียมเทคออฟ โชว์กำไร 1.24 หมื่นล้าน  ผู้โดยสารแน่น - รับผลปรับโครงสร้างหนี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

การบินไทย เตรียมเทคออฟ โชว์กำไร 1.24 หมื่นล้าน ผู้โดยสารแน่น - รับผลปรับโครงสร้างหนี้

Date Time: 8 พ.ย. 2567 09:39 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • การบินไทย โตต่อเนื่อง ไตรมาสที่ 3 มีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท จากการฟื้นตัวของธุรกิจและขยายเส้นทางบินใหม่ รายได้รวมเพิ่มขึ้น 23.8% แต่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินก็สูงขึ้นตาม

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ธุรกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 12,483 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10,937 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 711% โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจ การขยายเส้นทางบินใหม่ในยุโรป และจีน ครอบคลุม 61 จุดทั่วโลก และในขณะเดียวกันยังรับรู้รายการจากการปรับโครงสร้างหนี้


การบินไทยรายงานว่า ในบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 8,820 ล้านบาท (23.8%) โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากกิจการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 7,450 ล้านบาท (21.7%) โดยรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 6,182 ล้านบาท (20.0%) เนื่องจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ให้บริการ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น


โดยในไตรมาสนี้ บริษัทฯ กลับมาให้บริการในเส้นทางบินสู่มิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ นอกจากนี้ ได้เพิ่มความถี่ไปยังเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนจากมาตรการยกเว้นวีซ่าของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้บริษัทฯ มีเครือข่ายเส้นทางบินให้บริการครอบคลุม 61 จุดบิน ใน 26 ประเทศทั่วโลก โดยเป็น 8 จุดบินในประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ส่วนรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 1,268 ล้านบาท (36.6%) จากปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 และรายได้พัสดุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 นอกจากนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 589 ล้านบาท (28.1%)


โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้หน่วยธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินของสายการบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และมีรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น 781 ล้านบาท (146.5%) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,347 ล้านบาท (31.9%) ตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งจำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย


เช่น ค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการค่าซ่อมที่สูงขึ้นตามจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ค่าบริการการบิน เนื่องจากอัตราค่าบริการภาคพื้นที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณาซึ่งเพิ่มขึ้นตามประมาณการจองบัตรโดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มสูงขึ้น


ให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 527 ล้านบาท (6.8%) บริษัทฯ และบริษัทย่อยรับรู้ต้นทุนทางการเงิน (ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9: TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 1,107 ล้านบาท (29.7%) และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 10,119 ล้านบาท


สาเหตุหลักจากการกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับปรุงค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรโดยสารที่หมดอายุ และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ถึงแม้จะมีเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง โครงการรวมใจจากองค์กร ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน TFRS 9 และปรับปรุงสินค้าคงเหลือในกลุ่มที่ไม่มีฝูงบิน


ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 12,483 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10,937 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,480 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 5.72 บาท สูงกว่าปีก่อน 5.02 บาทต่อหุ้น (717.1%) โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) จำนวน 6,655 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีก่อน 1,705 ล้านบาท (20.4%)


อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 บริษัทฯ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 13.1 ชั่วโมง มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.5 มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตร หรือร้อยละ 26.2 และปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 2,544 ล้านคน-กิโลเมตร หรือร้อยละ 24.2 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1%

และมีรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน และค่าเบี้ยประกันภัย) อยู่ที่ 2.83 บาท ต่ำกว่าปีก่อนร้อยละ 3.4 และสำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) เพิ่มขึ้น 226 ล้านตัน-กิโลเมตร หรือร้อยละ 31.6 และปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) เพิ่มขึ้น 119 ล้านตัน-กิโลเมตร หรือร้อยละ 31.6 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 52.5% ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ