ธี่หยด 2 สุดหลอน ดันความหวัง หุ้น MAJOR กำไรฟื้น จับตาปี 68 หนังดังเข้าเพียบ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธี่หยด 2 สุดหลอน ดันความหวัง หุ้น MAJOR กำไรฟื้น จับตาปี 68 หนังดังเข้าเพียบ

Date Time: 16 ต.ค. 2567 15:05 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย สำหรับ “ธี่หยด 2” เข้าฉายและสร้างปรากฏการณ์เปิดตัวแรงที่สุดของหนังไทยเท่าที่เคยมีมา โดยล่าสุดรายได้ทะลุ 400 ล้านบาทไปแล้ว โดยความน่ากลัวของ ธี่หยด 2 นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับคนดูหนังไทยแล้ว ยังสร้างกำไรให้กับ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ เมเจอร์ ด้วย เพราะธี่หยดเป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวที่มีรายได้เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างความหวังให้กับกำไรของ MAJOR ด้วย

Latest


บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ความคาดหวังต่อ MAJOR กลับมาอีกครั้ง หลังภาพยนตร์ “ธี่หยด 2” เข้าฉายและสร้างปรากฏการณ์เปิดตัวแรงที่สุดของหนังไทยเท่าที่เคยมีมา น่าจะสร้างผลบวกต่อกำไรไตรมาสที่ 4 ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาสที่ 3 จะอ่อนตัวตามฤดูกาล มีภาพยนตร์ทำรายได้เกินร้อยล้านเพียงเรื่องเดียว คาดกำไร 43 ล้านบาท ลดลง 59% จากปีก่อน

แม้กำไรไตรมาสที่ 3 จะไม่เด่น แต่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่เคยตายตราบที่มีหนังดีเข้าฉาย หากพิจารณารายชื่อภาพยนตร์ที่ต่อแถวเข้าฉายในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี 2568 เชื่อว่าผลประกอบการของ MAJOR จะกลับมาเติบโตได้ ให้น้ำหนักลงทุน Outperform ประเมินราคาเหมาะสม 21.50 บาท มี UPSIDE กว้างและเกราะป้องกันจากโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ก.ค. 67-16 ม.ค. 68


ทั้งนี้กำไรของ MAJOR ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะอยู่ที่ 43 ล้านบาท ลดลง 59% จากปีก่อน แนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 43 ล้านบาทน่าจะชะลอตัวลง 59% จากปีก่อน ผลจากปีก่อนที่ MAJOR มีการบันทึกรายได้ภาษีจากการขายหุ้น MPIC จำนวน 100 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสนี้ MAJOR ต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ รายได้โรงภาพยนตร์งวดไตรมาสที่ 3 คาดไว้ 780 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน ถือเป็นฐานรายได้ค่อนข้างต่ำเพราะเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจโรงภาพยนตร์

มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดออกฉายไม่มาก ไตรมาสนี้มีภาพยนตร์ออกฉายรวม 61 เรื่อง ประกอบด้วยหนังไทย 13 เรื่อง และหนังฮอลลีวูด 48 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท นับรายได้เฉพาะโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์เพียงเรื่องเดียว คือ “Deadpool 3” ทำรายได้ 178 ล้านบาท ส่วนภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดคือ “วิมานหนาม” ทำได้ 93 ล้านบาท


สำหรับธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม หรือ “Concession” คาดจะมีรายได้ลดลง 12% จากปีก่อน โดยเป็นการลดลงทั้งยอดขายในและนอกโรงภาพยนตร์ เนื่องจากภาพยนตร์ที่ออกฉายไตรมาสนี้เป็นภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก และมีการฉายภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ทำให้ลวดลายบนถังป๊อปคอร์นไม่ดึงดูดใจเท่ากับหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูด อีกทั้ง MAJOR ลดการจัดโปรโมชั่นและปรับขึ้นราคาป๊อปคอร์นในช่องทาง Delivery เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น


ส่วนธุรกิจโฆษณาในโรงภาพยนตร์มีรายได้ลดลง 5% จากปีก่อนตามหน้าหนังที่ไม่แข็งแรง ธุรกิจที่ยังมีรายได้เติบโตคือธุรกิจโบว์ลิ่ง คาดรายได้เติบโต 8% จากปีก่อน จากการทำการตลาดเชิงรุกในกลุ่มลูกค้า Corporate และธุรกิจร้านค้า Retail คาดรายได้เติบโต 8% จากปีก่อน


อย่างไรก็ตาม บล.เอเซีย พลัส ให้น้ำหนักการลงทุนใน MAJOR ในระดับ Outperform แม้แนวโน้มผลประกอบการไตรมาสที่ 3 จะออกมาไม่สดใส ทำให้ประมาณการกำไร 9 เดือนแรก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 47% ของประมาณการกำไรปี 2567 ที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ 879 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายวิจัยอาจต้องปรับลดประมาณการกำไรปี 2567 ลงจากเดิม 15-20% เหลือประมาณ 700-750 ล้านบาท แต่รายได้ของ MAJOR ขึ้นอยู่กับความนิยมของภาพยนตร์ที่ออกฉาย ซึ่งมีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์ได้ทั้งทางบวกและลบ ฝ่ายวิจัยจึงขอรอดูรายได้หนัง ก่อนที่จะตัดสินใจปรับประมาณการหลังประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ช่วงกลางเดือน พ.ย. นี้


แม้ประมาณการกำไรปี 2567 จะมี Downside Risk แต่ฝ่ายวิจัยยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการดำเนินกลยุทธ์ของ MAJOR ทั้งการเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด การหาโอกาสเติบโตในธุรกิจป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง บวกกับกระแสตอบรับที่ดีของภาพยนตร์ไทย โดยมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องทำรายได้ทะลุหลักร้อยล้านบาทได้หลังเข้าฉายเพียงไม่กี่วัน ทำให้ MAJOR ไม่ต้องพึ่งพิงภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ปี 2568 ยังจะเป็นปีที่ค่ายผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของโลก เตรียมนำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ออกฉาย อาทิ Avatar 3, Mission Impossible 8 และ Captain America ในขณะที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยหลายค่ายก็จะมีการสร้างหนังไทยออกสู่ตลาดจำนวนมากเช่นกัน จึงส่งผลบวกโดยตรงต่อ MAJOR ในฐานะผู้นำตลาดโรงภาพยนตร์ของไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 70% ฝ่ายวิจัยประเมิน Fair Value ปี 2568 อิงวิธี DCF อยู่ที่ 21.50 บาท เทียบเท่า PER 19 เท่า ให้น้ำหนักการลงทุน Outperform โดยราคาหุ้น MAJOR มีเกราะป้องกันจากโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน วงเงินจำนวนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2567 ถึงวันที่ 16 ม.ค. 2568


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ