ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ที่การบินไทยได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการและเดินตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด จนผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีเงินสดสภาพคล่องในมือกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งการเดินตามแผนทำให้พลิกโฉมองค์กรครั้งใหญ่ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชน มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน รวมถึงมีการปรับโครงสร้างทางการเงินอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ในช่วงเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงิน ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท ดังนั้นการบินไทยจึงเร่งปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย
พร้อมกล่าวต่อว่า ส่วนการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 68
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า แม้ว่าการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังจะเพิ่มเต็มตามสิทธิ์ที่ได้รับ สัดส่วนการถือหุ้นจะอยู่ที่ 45% เท่านั้น ไม่ทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจในปีนี้อย่างแน่นอน และการแปลงหนี้เป็นทุนแต่เมื่อมีการซื้อขายในตลาดฯ ก็ต้องมาดูว่าคลังจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มหรือไม่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาที่การบินไทยเดินตามแผนฟื้นฟูก็แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วว่า มีการทำงานที่คล่องตัวปราศจากการแทรกแซงทำให้กำหนดกลยุทธ์แผนการทำธุรกิจ เส้นทางบิน เครื่องบินอย่างรวดเร็วทันตามสถานการณ์ ขณะเดียวกันที่การบินไทยเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวก็ได้สร้างผลงานที่ทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรและสามารถที่จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่คิดว่าการเป็นบริษัทเอกชนสามารถต่อสู้และแข่งขันกับสายการบินในต่างประเทศได้
นอกจากนี้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 การบินไทยจะประชุมเจ้าหนี้ เพื่อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจลดทุนจดทะเบียน ด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมให้การบินไทยมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ หลังจากที่ไม่มีการจ่ายปันผลมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีผลขาดทุนสะสมประมาณ 60,000 ล้านบาท และมีแผนจะล้างขาดทุนสะสมให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด ส่วนจะสามารถจ่ายปันผลได้ภายในปี 2568 หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ซึ่งขณะนี้ผลประกอบการยังคงฟื้นตัวดีต่อเนื่อง
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney