จับเทรนด์ บจ.ไทย เงินเหลือ ซื้อกิจการพุ่ง หนีธุรกิจเดิมโตช้า หา New S-Curve

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับเทรนด์ บจ.ไทย เงินเหลือ ซื้อกิจการพุ่ง หนีธุรกิจเดิมโตช้า หา New S-Curve

Date Time: 25 ก.ย. 2567 11:04 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ดร.วีรพัฒน์ เพชรคุปต์ ซีอีโอ บล.ทรีนีตี้ เผยเทรนด์ บจ. สนใจ M&A มากขึ้น ชี้เงินเหลือเยอะ ธุรกิจเดิมโตช้า ส่วนใหญ่หา New-S curve ใหม่ หนุนการเติบโตในอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนเริ่มให้ความสำคัญกับการควบรวมกิจการ (M&A) และการปรับโครงสร้างมากขึ้นต่อเนื่อง จากการเติบโตของธุรกิจหลักในหลายอุตสาหกรรมเริ่มชะลอตัว ทำให้บริษัทต่าง ๆ มองหา New S-Curve ใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญธุรกิจวาณิชธนกิจ เปิดเผยว่า บริษัทได้เสริมทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน M&A เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในขณะนี้มีดีลในมือถึง 8-10 ดีล ซึ่งแต่ละดีลมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท

เปิดเทรนด์บริษัทจดทะเบียน สนใจ M&A มากขึ้น

ดร.วีรพัฒน์ เพชรคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ผ่านการปรับโครงสร้างและการควบรวมธุรกิจ (M&A) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าหลายบริษัทมีทุนในการขยายธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจเดิมที่ทำอยู่อาจจะเติบโตช้า จึงสนใจแนวทางการเข้าซื้อกิจการ หรือการเปลี่ยนธุรกิจเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโต

ขณะเดียวกัน บางบริษัทก็มีแนวคิดในการขายบางธุรกิจเดิมออกไป (Divest) เช่นกัน ซึ่งหลายบริษัทก็พยายามหารูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve เป็นเทรนด์ทางธุรกิจในช่วงหลัง เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยา

ดังนั้น ในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ มีการเพิ่มทีมวาณิชธนกิจที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้มีดีล M&A ในมือแล้ว 8-10 ดีล มูลค่าดีลละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ครอบคลุมในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นดีลที่บริษัทต่างชาติสนใจลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย

นอกจากนี้ บริษัทจะรุกธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเน้นดีลที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ขณะนี้มีดีลในมือประมาณ 13-14 ดีล ซึ่งจะทยอยเข้าจดทะเบียนในปี 2567-2568 ซึ่งดีลใหญ่ที่จะเห็นได้เร็วที่สุด คือการเข้าไอพีโอของ “บมจ.โรงพยาบาลนครธน” คาดจะสามารถเข้าเทรดได้ภายในปีนี้

ดันมาร์เก็ตแชร์ TFEX ติด TOP 5 ปีหน้า

ดร.วีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทจะใช้โอกาสที่ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัว เตรียมความพร้อมด้านธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างเต็มที่ มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ทั้งหุ้นและ TFEX โดยเฉพาะในฝั่ง TFEX เรามีการขยายฐานลูกค้าจนปัจจุบันสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด หรือ มาร์เก็ตแชร์ ในด้านของปริมาณการซื้อขายในตลาด TFEX ได้เป็น 2-3% จาก 0.2% โดยตั้งเป้าหมายให้ติด 1 ใน 5 อันดับแรกภายในปีหน้า จากการปรับปรุงและพัฒนาระบบ รวมถึงทำการตลาดมากขึ้น

ขณะที่ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าผลดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้นทำให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนคึกคัก และนักลงทุนเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นอีกครั้ง โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมของธุรกิจหลักทรัพย์ได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าฐานรายได้ของฝั่งธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ จะเติบโตไปควบคู่กัน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากธุรกิจวาณิชธนกิจ 50% และรายได้จากค่าธรรมเนียมการเทรด 30-40%

สำหรับภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทย ประเมินว่าจะปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยคาดเป้าหมายไว้ที่ 1,480 จุด จากปัจจัยลบน้อยลง การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน TESG และกองทุนรวมวายุภักษ์ด้วย โดยคาดว่าหุ้นขนาดใหญ่, มีสภาพคล่องสูง, ESG ในระดับดี และมีปันผล จะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินดังกล่าว เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร

ลุยออกตราสารหนี้ ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้น

ดร.วีรพัฒน์ เล่าต่อว่า ในส่วนของการออกตราสารหนี้ บริษัทมีการเพิ่มทีมตราสารหนี้ และปรับกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ ให้มีระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย และเน้นการเลือกออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี เพื่อเป็นทางเลือกกับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

โดยปีนี้คาดว่าจะเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ จำนวน 20-22 ดีล ขณะเดียวกัน ประเมินว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มกลับมาแล้ว สะท้อนจากดีลตราสารหนี้ที่ปัญหามีแนวโน้มลดลง

ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้า โดยจะเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนให้มากขึ้น จากปัจจุบันเป็นตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนจำนวน 14 บลจ. พร้อมตั้งเป้าที่จะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2,400 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เห็นรายได้จากการขายกองทุนที่ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ