เมื่อบาทแข็งค่ารอบ 19 เดือน  จับตาแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย โบรกฯ เปิดลิสต์หุ้นได้ประโยชน์

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เมื่อบาทแข็งค่ารอบ 19 เดือน จับตาแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย โบรกฯ เปิดลิสต์หุ้นได้ประโยชน์

Date Time: 17 ก.ย. 2567 14:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • จับตาเงินบาทแข็งค่า เปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือน จับตาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทหรือไม่ ด้านนักวิเคราะห์ฯ คาดการลดดอกเบี้ย อาจส่งผลให้หุ้นบางกลุ่มได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น กลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) และกลุ่มเช่าซื้อ ส่วนกลุ่มธนาคารอาจเผชิญกับแรงกดดันระยะสั้น

Latest


จับตาเงินบาทแข็งค่า เปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือน ซึ่งกำลังสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้หลายฝ่ายจับตามาตรการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทหรือไม่


อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทที่แข็งค่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ฯ ยังคาดว่า แม้มีการลดดอกเบี้ย ก็ยังเห็นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อในระยะถัดไป จากนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย ขณะที่การลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้หุ้นบางกลุ่มได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น กลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) และกลุ่มเช่าซื้อ ส่วนกลุ่มธนาคารอาจเผชิญกับแรงกดดันระยะสั้น


ห่วง “บาทแข็ง” กระทบภาคธุรกิจ อาจเห็น ธปท. ลดดอกเบี้ย


กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีทิศทางอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค


ทั้งนี้ คาดว่ามาจากการเข้าดูแลค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังกระทรวงการคลังและผู้บริหาร ธปท. แสดงความเป็นห่วงต่อการแข็งค่าของเงินบาท


ขณะที่ ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่เตรียมหารือ ธปท. เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินในอนาคต ซึ่งคาดหมายถึงการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยสิ่งที่รัฐบาลกังวล คือ 1.อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสูงไปหรือไม่ 2.วิธีการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และ 3.การเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน


ซึ่งนักลงทุนคาดหมายว่า ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในอนาคต โดยในปีนี้มีโอกาสเห็นการลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้ง ราว 0.25% สะท้อนตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปีถึง 8 ปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่ 2.50% ทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามการประชุมรอบถัดไป 16 ต.ค.67 ว่าจะมีมติดังที่ตลาดคาดหมายไว้หรือไม่


ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ในทางเดียวกันว่า ธปท. มีโอกาสต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย จากที่คาดการณ์กันว่า ปีนี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยไว้ หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แนะนำให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย และดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก


เปิดลิสต์หุ้นได้ประโยชน์ หากลดดอกเบี้ยจริง


นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า หากการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นจริง จะบวกต่อหุ้นกลุ่ม Non-Bank ได้แก่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SAWAD และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MTC อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจกระทบ sentiment หุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงสั้นๆ ได้


ขณะที่ ฝ่ายวิจัยฯ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสเดินหน้าสู่ 1500 จุด ส่วนหนึ่งจากกระแสเงินลงทุนต่างชาติมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม ทั้งจากการเดินหน้ากองทุนวายุภักษ์ และระยะถัดไปยังเห็นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อ จากนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย


ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ แนะนำเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากสภาวะอัตราดอกเบี้ยลดลงในอนาคต ดังนี้

  1. กลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ THANI, MTC, TIDLOR, SAWAD, ASK, AEONTS, BAM, JMT
  2. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ได้แก่ KKP, TISCO
  3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ SPALI, LH , AP, ORI, QH, SIRI
  4. กลุ่มที่ให้ปันผลสูง ได้แก่ INTUCH, ADVANC, SCC, DIF, CPNRIET
  5. กลุ่มได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายลด ได้แก่ BGRIM, GULF, MINT, CPALL, TRUE

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ