บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ชี้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน, เม็ดเงินทุนลงทุนที่พร้อมสนับสนุนตลาด และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
โดยวางเป้าดัชนีปีนี้ไว้ที่ 1,394 จุด ลุ้นภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมคาดหวังกองทุนวายุภักษ์ระดมทุนได้แตะ 1 แสนล้านบาท
พร้อมแนะกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ให้กระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ของบริษัทที่มีคุณภาพดี และกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทน ในช่วงที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยอาจไม่เติบโตเป็นไปอย่างที่คาดหวัง
ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ภาพรวมตลาดหุ้นไทย สร้างผลงานรั้งท้ายตลาดหุ้นเอเชีย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดหุ้นมักพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน, ปริมาณเงินทุนที่พร้อมจะสนับสนุนตลาด, และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเจอปัญหาใหญ่ ทั้งภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ กำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และกองทุน LTF ซึ่งเคยเป็นแรงหนุนตลาดหมดอายุลง
ขณะที่กองทุน SSF ที่มาแทนที่ก็ไม่สามารถจูงใจนักลงทุนได้เพียงพอ ขณะเดียวกัน ยังเกิดปัญหาที่กระทบความเชื่อมั่นจากหุ้นหลายบริษัท เช่น STARK, MORE และ EA เป็นต้น ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงไปอย่างมาก
ในปี 2567 แม้ บล.บัวหลวง มองว่าไม่น่าจะเป็นปีที่แย่ แต่ผ่านมา 6-7 เดือน ตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดหวัง สะท้อนว่าปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ บล.บัวหลวง ได้ปรับเป้าหมายตลาดหุ้นไทยปลายปีนี้ลงมาที่ 1,396 จุด จากเดิมที่ 1,466 จุด เพราะกำไรของบริษัทต่าง ๆ ในครึ่งปีหลังยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออก แต่ประมาณการนี้ ยังไม่ได้รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
นอกจากนี้ คาดหวังว่าการตั้งกองทุนวายุภักษ์ จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากกว่า 1 แสนล้านบาท เข้ามาเสริมสภาพคล่องในตลาดหุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากระดมทุนได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 1-1.5 แสนล้านบาท อาจทำให้ตลาดเสียความเชื่อมั่นได้
ชัยพร ชี้ให้เห็นว่า หากพิจารณาจากราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/BV) จะพบว่ามูลค่าหุ้นไทย (Valuation) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆ ดังนั้น ทำให้มองว่าโอกาสในการปรับตัวลดลง หรือ Downside ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันไม่ได้เปิดกว้างมากนัก ขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น (Upside) จากมาตรการระยะสั้น ที่จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินมายังระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นระยะสั้น
แต่หากมองในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติแล้ว เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค จะพบว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสมเหตุสมผล ไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยเร่งที่ชัดเจน และยังมีความเสี่ยงจากทั้งข้อจำกัดของงบประมาณ ประเด็นทางการเมือง และปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่
“ตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้ถือว่ามี Discount มากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยมากนัก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ยังถือว่าเติบโตต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน” ชัยพร กล่าว
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนะนำจัดพอร์ตลงทุนแบบตั้งรับอย่างเต็มตัว เพื่อตั้งการ์ดรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหลายประเทศคู่ค้าของไทยที่เติบโตชะลอตัว รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและสินทรัพย์ต่าง ๆ เกิดความผันผวนได้
ล่าสุดทีมวิจัยหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงมาอยู่สัดส่วน 20% จากต้นปี 2567 ที่อยู่ราว 60-80% และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วน 80% ซึ่งแนะนำเป็นตราสารหนี้ของบริษัทที่มีคุณภาพดี หรือได้เรทติ้งตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป
ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม แนะให้ลดน้ำหนักการลงทุน จาก 13% เป็น 9%, ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก 12% เป็น 6% ส่วนตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นแนะขายไปก่อนหน้า ยังไม่ให้น้ำหนักลงทุน ขณะที่หุ้นไทยให้น้ำหนักการลงทุนสัดส่วนต่ำ 2% ของพอร์ตรวม
อย่างไรก็ดี บล.บัวหลวง นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อเป็นช่องทางให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปหุ้นต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย ไม่สามารถเติบโตล้อไปกับวัฏจักรของเศรษฐกิจโลกได้ ทั้งการลงทุนใน DR และ ETF ที่อ้างอิงสินทรัพย์ต่างประเทศ
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้