พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาพของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เริ่มมีเสถียรภาพที่ดีขึ้น เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายที่เริ่มทรงตัว และถึงเวลาที่จะต้องฟื้นความเชื่อมั่นผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งนี้หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนก็จะมีส่วนช่วยในด้านความมั่งคั่งคนไทยให้ดีขึ้น
“ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มทรงตัวดีขึ้น มูลค่าการซื้อขายตอนนี้สะท้อนการซื้อขายที่แท้จริง และถึงเวลาต้องฟื้นความเชื่อมั่น ซึ่งจากการคำนวณเรามองว่า ทุกดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นทุก 100 จุดจะมีผลกับมาร์เก็ตแคป 1.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราทำได้ จะช่วยผลักดันเวลท์ของคนไทยให้ดีขึ้นด้วย”
ที่ผ่านมา ในตลาดหุ้นไทยได้มีการปรับกฎเกณฑ์ในหลายส่วน ทั้งมาตรการทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรบอตเทรด หรือ short sell ก็ตาม และหลังจากนี้ก็จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพิ่มเติม ทั้งนี้เราทำตามกรอบของกฎหมายและภายใต้การยอมรับขององค์กรในต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตเราจะมีปรับกฎเกณฑ์การดูแลไปยังต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้การตรวจสอบความผิดปกติ และการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยนั้น เราจะต้องดำเนินการกับผู้ที่เจตนาทำทุจริตในตลาดหุ้นและต้องเฝ้าระวัง โดยด่านแรกนั้นคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ซึ่งหากเราสามารถป้องกันและปราบปรามได้ดีมากขึ้น ก็จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้
ทั้งนี้ในด้านการกำกับดูแลจะเป็นเพียงส่วนแรกเท่านั้นของแผนการฟื้นความเชื่อมั่น ยังต้องมีส่วนที่ 2 คือ การหาสินค้าและบริการใหม่ๆ ทั้งนี้เรามองว่า ด้วยภาพรวมของสินค้า หรือธุรกิจเดิมที่มีอยู่จะสามารถสร้างการเติบโตไปได้อีก 20 ปี แต่ก็ต้องมีส่วนธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม ทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล หรือด้านอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริม
อย่างไรก็ตามในวันนี้ สำนักงาน ปปง., ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดย เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และประสานงานกับทั้ง 3 หน่วยงานได้ดี โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการตั้งตัวแทนขึ้นมาเพื่อติดต่อและประสานงานกันในเรื่องต่างๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การพบสัญญาณความผิดปกติ
"การตั้งคณะทำงานร่วมกัน จะทำให้การทำงานคล่องตัวและลดความซ้ำซ้อนในการทำงานได้ ตัวอย่างในกรณีของ MORE ที่เราเคยดำเนินการเชิงรุกร่วมกัน ใช้เวลาในการแก้ไขสถานการณ์ได้ภายใน 3 วัน แต่มี MOU นี้ก็อาจจะช่วยให้การทำงานต่างๆ นั้นเร็วมากขึ้น"
ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า เอ็มโอยูนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวของการทำงานระหว่างหน่วยงานในด้านประสานการตรวจสอบความผิดในตลาดหุ้นที่ทำได้เร็วมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่การตรวจสอบจะเริ่มต้นด่านแรกจากตลาดหลักทรัพย์ รวบรวมข้อมูลแล้วส่งต่อมายัง ก.ล.ต. ก่อนที่จะส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น DSI หรือ ปปง.
แต่การตั้งคณะทำงานร่วมกัน จะทำให้ร่วมกันทำงานตั้งแต่เริ่มต้นการตรวจสอบ หรือการค้นหาการกระทำความผิด ว่าต้องการหลักฐานอะไร และมุมมองแบบไหนที่ต้องเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดเวลาและความทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานออกไปได้
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่