WARRIX หุ้นหาย 15 ล้านหุ้น หลังฝากคัสโตเดียน กดราคาดิ่ง 12% ก.ล.ต. รับ อยู่ระหว่างตรวจสอบ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

WARRIX หุ้นหาย 15 ล้านหุ้น หลังฝากคัสโตเดียน กดราคาดิ่ง 12% ก.ล.ต. รับ อยู่ระหว่างตรวจสอบ

Date Time: 26 ส.ค. 2567 14:18 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • WARRIX พบหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกัน 15 ล้านหุ้น ที่ฝากไว้เป็นหลักประกันกับ “คัสโตเดียน” หายไป โดยไม่มีการผิดนัดชำระเงินกู้ นอกจากนี้ด้านความเคลื่อนไหวหุ้น WARRIX วันนี้ ปิดตลาดช่วงเช้าอยู่ที่ 4.00 บาท ลดลง 0.58 บาท หรือ -12.66% ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. เผยอยู่ระหว่างเร่งหารือกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว

Latest


นักลงทุนต่างให้ความสนใจ กรณี บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น WARRIX พบว่า หุ้นที่ใช้เป็นหลักประกันจำนวน 15,000,000 หุ้นหายไป โดยไม่มีการผิดนัดชำระเงินกู้ พร้อมบอกล้างการกู้ยืมเงินและฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนหุ้นทั้งหมดที่ฝากไว้เป็นหลักประกันกับ “คัสโตเดียน” นอกจากนี้ยังมีการขอศาลอายัดหุ้นที่เหลืออีก 105,211,000 หุ้น เพื่อป้องกันการโอนหุ้นออกไปด้วย


ด้านความเคลื่อนไหวหุ้น WARRIX วันนี้ ปิดตลาดช่วงเช้าอยู่ที่ 4.00 บาท ปรับตัวลดลง 0.58 บาท หรือ -12.66% ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเร่งหารือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว


WARRIX จ่อเอาผิด “คัสโตเดียน” หลังทำหุ้นหาย 15 ล้านหุ้น


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น WARRIX แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ได้ทําการจําหน่ายหุ้นของ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จํากัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จํากัด จํานวน 14,942,530 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 2.49 ของหุ้นที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ


ทั้งนี้ตรวจพบว่า จํานวนหุ้นที่นําไปจํานําเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ โดยการฝากในฐานะเป็นหลักประกันไว้กับคัสโตเดียนนั้น มีจํานวนหุ้นที่หายไปจํานวน 15,000,000 หุ้น โดยที่ยังไม่มีการผิดนัดชําระเงินกู้แต่ประการใด


จึงได้ดําเนินการบอกล้างโมฆยกรรมการกู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว และอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องดําเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อติดตามหุ้นที่หายไปดังกล่าว และให้คัสโตเดียนส่งมอบคืนหุ้นที่ฝากไว้เป็นหลักประกันคืนทั้งหมด


สำหรับหุ้นจํานวนที่เหลือที่ยังอยู่ในความครอบครองของคัสโตเดียน จํานวน 105,211,000 หุ้น นั้นได้ขอคําสั่งศาลอายัดหุ้นดังกล่าวไว้ ดังนั้นขณะนี้คัสโตเดียนและตัวแทนของคัสโตเดียนจึงถูกสั่งห้ามมิให้จําหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว


จับตาสำนักงาน ก.ล.ต. หารือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ


อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวสร้างความหวั่นใจและกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนอย่างมาก เนื่องจากคัสโตเดียนถือเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ดูแลหุ้น หรือสินทรัพย์อื่นๆ แทนนักลงทุนให้เกิดความปลอดภัย


ซึ่งยังจะต้องติดตามความชัดเจนของเรื่องนี้ต่อไป หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเร่งหารือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว


พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังดำเนินการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องความผิดพลาดส่วนบุคคล และไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบของตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามต้องรอการรายงานข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง


รู้จัก “คัสโตเดียน” ผู้รับดูแลหุ้นด้วยความ “ปลอดภัย”


คัสโตเดียน (Custodian) หรือ ผู้รับฝากทรัพย์สิน เป็นสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ของนักลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตร และอื่นๆ


ดังนั้น การฝากหุ้นกับคัสโตเดียน ถือเป็นทางเลือกในการจัดการหลักทรัพย์ของนักลงทุนที่ช่วยให้มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหน้าที่หลักๆ คือการดูแลรักษาหุ้นและหลักทรัพย์อื่นๆ ของนักลงทุน รวมถึงการรับเงินปันผล การจัดการเอกสาร และการรายงานข้อมูลที่จำเป็นด้วย


นอกจากนี้บางครั้งคัสโตเดียนอาจทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับการใช้หลักทรัพย์ที่รับฝากเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นๆ และใช้หลักทรัพย์ที่ฝากกับคัสโตเดียนเป็นหลักประกันในการกู้เงินนั้นด้วย ซึ่งโดยปกติจะอนุญาตให้ถอนสินทรัพย์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเท่านั้น


ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล จำนวน 15 ราย ดังนี้

  1. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น เอ
  3. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  7. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  8. บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  9. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพฯ
  10. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  11. ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี สาขากรุงเทพฯ
  12. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  13. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  14. ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
  15. บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์