ตลท. ออก 3 มาตรการใหม่ คุมหุ้นร้อน มั่นใจเอาอยู่ ฟาก ก.ล.ต. เร่งหนุนใช้โทเคนระดมทุน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลท. ออก 3 มาตรการใหม่ คุมหุ้นร้อน มั่นใจเอาอยู่ ฟาก ก.ล.ต. เร่งหนุนใช้โทเคนระดมทุน

Date Time: 22 ส.ค. 2567 17:47 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • - ตลท. เตรียมใช้ 3 มาตรการใหม่ เริ่มบังคับใช้วันที่ 2 กันยายนนี้ เชื่อช่วยลดความผันผวน และป้องกันคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
  • - ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ระดมทุนผ่าน “โทเคน” หนุนธุรกิจ “ซอฟต์พาวเวอร์” เผยค่ายเพลงเข้าหารือ 1-2 ราย ตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล

Latest


จับตา 2 หน่วยงานตลาดทุนเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการ-ปรับเกณฑ์ใหม่ โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมใช้ 3 มาตรการใหม่ โดยจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 2 กันยายนนี้ ได้แก่ Dynamic Price Band, Auction และ Minimum Resting Time โดยเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความผันผวนและป้องกันคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมได้


ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเกณฑ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ "ซอฟต์พาวเวอร์"


ตลท. จ่อใช้ 3 มาตรการใหม่ คุมหุ้นร้อน เริ่ม 2 ก.ย.นี้


รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้ 3 มาตรการใหม่ เพื่อควบคุมการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ โดยจะเริ่มบังคับในวันที่ 2 กันยายนนี้ ได้แก่ มาตรการกรอบราคาซื้อขายหลักทรัพย์ (Dynamic Price Band), มาตรการจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) และมาตรการกรอบเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนจะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time)


สำหรับ มาตรการ Dynamic Price Band มีกลไกการทำงาน คือ จะมีการกำหนดช่วงราคาไว้ที่ ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุด หากมีคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้มีการจับคู่นอกช่วงราคาดังกล่าว ระบบซื้อขายจะหยุดจับคู่หุ้นนั้น และหยุดซื้อขายหุ้นทันที จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Pre-Open เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ โดยจะไม่มีการจับคู่ซื้อขาย


โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าหลังจากบังคับใช้แล้วจะช่วยทำให้ราคาหุ้นไม่ผันผวนเร็วเกินไป และสามารถป้องกันการสร้างราคาได้ รวมถึงจะช่วยให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจซื้อขายได้มากขึ้น โดยจะบังคับใช้กับหุ้นที่มีราคามากกว่า 1 บาท ยกเว้นหุ้นที่มีเหตุอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น หุ้นไอพีโอ, หุ้นที่มีการทำคำเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในเฟสถัดไปในช่วงต้นปี 2568


ส่วนมาตรการซื้อขายด้วยวิธี Auction จะมีการบังคับใช้สำหรับหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ขึ้นไป เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้มากขึ้น โดยมีกลไกการทำงาน คือ การเปิดจับคู่ให้ซื้อขายวันละ 3 รอบ ในช่วง Pre-Open 1, Pre-Open 2 และ Pre-Close โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ และสามารถแก้ไขปริมาณหุ้น หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายระหว่างวันได้


และมาตรการกรอบเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนจะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) เป็นการกำหนดเวลาขั้นต่ำของการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสนอซื้อขายในลักษณะใส่-ถอน ที่มีความถี่จนอาจทำให้หรือทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจผิด


ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกการเสนอซื้อขายของตนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการส่งหรือแก้ไขการเสนอซื้อขายแล้ว เป็นระยะเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250 มิลลิวินาที หากเร็วกว่านั้น การส่งคำสั่งจะถูกยกเลิกโดยระบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถป้องกันการคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมจากโปรแกรมเทรด หรือโรบอตเทรดได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่กระทบต่อการซื้อขายของนักลงทุนบุคคลทั่วไป


ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ หนุนใช้ Token ระดมทุน ดันธุรกิจ “ซอฟต์พาวเวอร์”


เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนและเศรษฐกิจ ตามจุดมุ่งหมายสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม


ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ผู้ระดมทุนเข้าถึงได้ และสะดวกกว่าการระดมทุนผ่านตลาดดั้งเดิม ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ผู้ระดมทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้น ทั้งคริปโตเคอเรนซีและโทเคน


นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีการปรับเกณฑ์มารองรับการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สามารถออก Investment Token ทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ด้านการระดมทุนของโครงการในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก เช่น ค่ายเพลง, ค่ายหนัง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาหารือแล้ว 1-2 ราย


ด้านจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องสำคัญ ทั้งด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่


1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) ทั้งการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก และการกำกับดูแลตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งานแต่ละประเภท เช่น ยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง หรือแทนเอกสารสิทธิใดๆ (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1)


ขณะเดียวกัน การบริการเกี่ยวกับ Utility Token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและไม่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ห้ามศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการ (เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมในอนาคต) 


และสำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2) ที่จะนำไป List ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่าน ICO portal


2.โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถทดสอบการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อย่างเหมาะสม โดย ก.ล.ต. สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์การวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไป โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567 


3.การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีกลไกการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น


กำหนดให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องเป็นกรรมการอิสระอย่างน้อย 2 คน และต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม   


พร้อมทั้งกำหนดให้กรรมการ/ผู้บริหารต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี (หากไม่เคยผ่านการอบรมต้องเข้าอบรมภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)


และปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานทุกระบบที่สำคัญ ระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง 


4.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด Exchange rules ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การกำหนด Exchange rules ของศูนย์ซื้อขาย ต้องเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานขั้นต่ำที่ ก.ล.ต. กำหนด

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์